Dawdle Man

20 July 2005

be Political Economy

เมื่อคืนเข้านอนตอนเที่ยงคืนกว่าๆ เพราะนั่งอ่านหนังสือเก่าๆ ที่ซื้อเก็บไว้ การอ่านหนังสือก่อนนอน เป็นเหมือนกาแฟ ลดอาการง่วงได้ชะงัก

ค้นชั้นหนังสือ เจอหนังสือ (วารสาร) แห่งความทรงจำ เล่มเก่า รู้สึกคิดถึง

จำได้ว่า เคยเขียนเล่าเรื่องของหนังสือเล่มนี้ ในหนังสือรุ่น แต่คิดว่า น้อยคนคงมีโอกาสได้เห็น เลยนั่งแก้บทความนิดๆ หน่อย แล้วโพสเล่าเรื่องความเป็นมา ระหว่างผม กับหนังสือเล่มนั้น

-------------------------------
be Political Economy
(พิมพ์ครั้งแรกและครั้งเดียวในหนังสือรุ่น BE8)

“...หนูก็เป็นคนหนึ่งที่ติดตามวารสารฉบับนี้มาเรื่อยๆ หนูได้รับ be Political Economy เล่มแรกเมื่องานแนะนำคณะ ที่จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ ปีที่แล้วค่ะ ครั้งนั้นหนูรู้สึกประทับใจบทความต่างๆ ที่พี่ๆเขียนกันเข้ามามาก พูดได้เลยว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การตัดสินใจเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ของหนูชัดเจนขึ้น หลายต่อหลายบทความดีดีที่ให้ข้อคิดมากมาย...
หนูต้องยอมรับว่า หนูมักจะชอบเลือกอ่านบทความที่ให้แง่คิดในการดำรงชีวิตมากกว่าบทความที่ว่าด้วยเศรษฐกิจล้วนๆพี่ๆเขียนได้ประทับใจมาก จนทำให้หนูอยากมาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมศาสตร์เร็วๆ หนูได้มีโอกาสอ่าน เล่มที่ 2, 3, 4 และเล่มสุดท้ายนี้ เล่มที่ 5 งานเขียนของพวกพี่ยังคงให้แง่คิดดีดีกับหนูเสมอ
หนูเคยหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ส่งบทความไปที่กองบรรณาธิการบ้าง ขอเวลาหนูฝึกปรือวิทยายุทธ และสั่งสมความเป็นธรรมศาสตร์อีกซักหน่อยนะคะ แล้วหนูจะไม่รอที่จะส่งบทความไป
ถึงตอนนี้พี่จะเลิกทำ be Political Economy แล้ว แต่ Echo ที่กำลังจะเข้ามาแทน ก็ทำให้หนูมั่นใจได้ว่าวารสารที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำเสนอความคิดของตนจะยังคงมีต่อไป...”
Gift BE#12

ข้อความข้างบนเป็นส่วนหนึ่งของอีเมลหลายๆฉบับที่ผมเคยเปิดอ่านใน อีเมลของวารสารที่ผมเคยรับผิดชอบ ข้อความเหล่านั้นทำให้ผมรู้สึกดีใจ ที่งานเล็กๆ ของพวกเราทำประโยชน์ได้มากมายกว่าที่พวกเราตั้งใจ

หลายๆคนคงเคยโดน “บังคับซื้อ” วารสารเล่มเล็กชื่อ “be Political Economy” ขนาดสมุดเลกเชอร์ ที่ออกทุกๆ 3 เดือน มีลักษณะเด่นคือ การออกแบบหน้าปกที่ดูแปลก แล้วแต่เล่ม อาจดูสวยเด่นในสายตาของบางคน หลายคนสงสัยว่าทำไมเราตั้งชื่อวารสารฉบับนี้ว่า “be Political Economy” ที่ฟังดู “หนัก” และ “น่าเบื่อ” หลายคนอาจคิดว่า “ไร้สาระ”

คงไม่ผิดนักหากผมจะเรียกตัวเองว่าเป็นหนึ่งใน “ผู้ก่อการ” ทำให้วารสารชื่อประหลาดโลกหลุดเข้ามาสู่บรรณาพิภพนี้ได้ ผมจำได้ว่าตอนนั้นเป็นช่วงปลายเดือนมกราคมปี 2546 ซึ่งปกติแล้วเป็นช่วงที่คณะของเราจัดงาน “เศรษฐศาสตร์วิชาการ” อยู่เสมอๆ ตอนนั้น SCOBE ภายใต้การนำของท่านผู้นำสุดหล่อ “คุณกระต่ายน้อย” ตัดสินใจว่า B.E. ของเราจะช่วยจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านวิชาการแก่ผู้เข้าชมงาน

พี่จ๊อก BE#7 อาสารับผิดชอบงานและตีโจทย์นี้ โดยมีความคิดว่า หากเราทำบอร์ดเหมือนกับหลายๆปีที่ผ่านมา ความรู้ที่เราไปขวนขวายหรือศึกษามามีอายุเพียงแค่อย่างมาก 2-3 วัน แล้วทำไมเราไม่ทำให้มันออกมาให้มันอยู่ได้นานเลยล่ะ? สุดท้ายเราก็เลยได้ความคิดว่าเราจะทำวารสารเชิงวิชาการในรูปแบบหนังสือทำมือ ที่มีบทความเชิงวิชาการของนักศึกษาคณะเรา ไว้แจกผู้คนที่เข้ามาชมคณะของเรา

น้องเอด้า BE#9 เป็นคนแรกที่ชวนผมเขียนบทความลงวารสารเล่มนั้น ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผม “ร้อนวิชา” เพราะ หลังจากที่ผมได้อ่านหนังสือ แสวงหาความรู้เกี่ยวกับเศรษฐเชิงศาสตร์สถาบัน (Institutional Economics) ที่ผมคิดว่าสามารถใช้ ในการมอง ทำความเข้าใจ สังคมและโลกมนุษย์ และจะเติมเต็ม “ช่องว่าง” ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (Mainstream Economics) จำได้ว่า ตอนนั้นผมเหมือนเด็กที่เพิ่งได้ของเล่นใหม่ - อยากอวดให้เพื่อนๆเห็น - ผมจึงตั้งใจเขียนบทความเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์สถาบันขึ้นมา แต่กลับได้รับคำวิจารณ์ว่าเป็นบทความที่แห้งและจืดชืดที่สุด ในหนังสือเล่มนั้น

พี่จ๊อกสามารถรวบรวมบทความได้มากมายและหลากหลายในเนื้อหา ทีตั้งแต่เศรษฐศาสตร์กับการก่อการร้าย เศรษฐศาสตร์กับความรัก นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลฯลฯ ทุกอย่างพร้อมแล้วสำหรับการพิมพ์ยกเว้นสิ่งเดียว...ชื่อวารสาร

be Political Economy คงเป็นหนึ่งในวารสารน้อยฉบับในโลกนี้ที่ตั้งชื่อได้ผิดไวยกรณ์อย่างแปลกๆ เหล่า “ผู้ก่อการ” ส่วนหนึ่งเป็นลูกศิษย์อาจารย์พิชิตที่สอนวิชา Political Economy และอาจารย์ Gavan Butler ในวิชา Global Political Economy ที่ทำให้พวกเราหลงไหลสู่วังวนแห่งเศรษฐศาสตร์แนวอื่น ในตอนแรกเราจึงอยากใช้ชื่อวารสารว่า B.E. Political Economy เฉกเช่น Cambridge Journal of Political Economy ที่ฟังดูแล้ว “ขลัง” มาก แต่เพื่อป้องกันปัญหาของความแบ่งแยกว่าเป็นหนังสือของ B.E. เราจึงยอมเปลี่ยนจาก B.E. เป็น (to) be

แต่จริงๆ แล้วเรามีเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านั้น เพราะคำว่า Economics โดยแท้จริงแล้วเป็นร่างกลายพันธ์ของวิชา Political Economy ที่มีสอนกันมาหลายร้อยปีแล้ว เพียงแต่หลังจากนักวิทยาศาตร์จำนวนหนึ่งเริ่มสนใจนำกระบวนการวิทยาศาสตร์มาอธิบายพฤติกรรมสังคม Political Economy จึงอยู่ในเป้าหลอมรวมกับระเบียบความคิดเชิงวิทยาศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (สังเกตุได้จากชื่อ Economics มีความคล้ายคลึงกับ Physics หรือ Mechanics) ที่ซึ่งสิ่งนี้ทำให้องค์ประกอบการเมืองและสิ่งอื่นๆในสังคมเช่นวัฒนธรรม ถูกลดบทบาทลงในกระบวนการศึกษาเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลที่ว่า สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถวัดค่าได้
ความตั้งใจของพวกเราก็คือ เราไม่อยากให้เศรษฐศาสตร์ของเรามีความเป็น “วิทยาศาสตร์” มากเกินไปเราจึงอยากใช้ชื่อดังเดิมของเศรษฐศาสตร์เป็นชื่อของวารสารวิชาการสมัครเล่นที่เราทำ

เป็นที่น่าแปลกใจนิด ที่วารสารฉบับนี้ได้ผลตอบรับดีเกินคาด B.E. Office อยากให้เราทำต่อไป เราจึงได้รับเงินสนับสนุนเพียงพอที่เราจะทำหนังสือดีๆ ได้หนึ่งพันเล่ม

เล่มสองเป็นอีกเล่มหนึ่งที่พี่จ๊อกเป็น “หัวหน้าผู้ก่อการ” (บรรณาธิการ) เล่มนี้เป็นเหมือนการ “กระโดนค้ำถ่อ” ของพวกเรา เพราะวารสาร be Political Economy เล่ม 2 ถูกพิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม ด้วยปกสี่สีอาบมัน ข้างในเป็นกระดาษถนอมสายตา แถมมีนายแบบปก (อามัน BE#9) ทำให้วารสารของเราดู Sexy มากทีเดียว เราเปิดตัววารสารเล่มนี้ในงาน reunion ของ B.E. ซึ่งทำให้เราขายวารสารได้จำนวนมาก

รูปเล่มที่เปลี่ยนไปไม่ทำให้เนื้อหาของพวกเราเปลี่ยนแปลง พวกเรามีความมุ่งมั่นที่จะทำวารสารเล่มหนึ่งที่มีบทความเขียนโดยนักศึกษา วิพากษ์วิจารณ์สังคมที่เขาอยู่ด้วยเหตุและผล ผ่านกรอบและมุมมองในสิ่งที่เขาเชื่อและเขาเห็น บทความของพวกเรามีความเข้มข้นยิ่งขึ้นโดยเฉพาะบทความ “นิทานแห่งกาลเวลา” ของพี่สุนิตย์ BE#7 ที่โจมตีความคิดเก่าๆ อย่างรุนแรงแต่แฝงด้วยตรรกอย่างเข้มข้น

เมื่อพี่จ๊อกเรียนจบ ผม...ในฐานะคนที่อาวุโสสูงสุดจึงได้รับหน้าที่รับผิดชอบ ดูแลหนังสือของพวกเราต่อไป

การรับหน้าที่บรรณาธิการวารสารนี้ต่อไปอีก 3 ฉบับเป็นหน้าที่ที่ท้าทายผมมาก อย่างแรกก็เพราะว่าผมไม่เคยทำหนังสือมาก่อนเลยในชีวิต สองผมไม่รู้ว่าจะหาเงินทุนได้จากไหน (เพราะB.E. ไม่มีงบพอที่จะ support ได้อีก)

ผมคิดว่าผมค่อนข้างโชคดีมากที่เมื่อผมเป็นบรรณาธิการของ be Political Economy ตั้งแต่เล่ม 3-5 งานทุกอย่างค่อนข้างเข้าที่เข้าทาง หน้าที่หลักๆของผมคือ “ตามจิก” บทความจากนักเขียน และเขียนบทบรรณาธิการ ผมก็คงเป็นเหมือนบก.ของแห่งขายหัวเราะที่ถือแส้ไล่ฟาดนักเขียนเพื่อบังคับให้พวกเขาผลิตงานเขียนออกมา – เปล่าหรอกผมไม่โหดขนาดนั้นหรอก

ผมจำได้ว่าวันที่ be Political Economy เล่มที่ 3 ออกจากโรงพิมพ์เป็นวันเดียวกับที่ละคอน Another Land ของเด็ก B.E. แสดงเป็นวันแรก ระยะเวลาขับรถจากโรงพิมพ์มาถึงที่มหาวิทยาลัยใช้เวลา 15 นาที แต่สาบานเถอะ! 15 นาทีที่ผมรอหนังสือมาส่งนั้นยาวนานเป็นนิรันดร์ ผมรู้สึกว่าตอนนั้น เหมือนกำลังนั่งเฝ้าคอยหญิงสาวที่ผมนัดไว้ ไม่รู้ว่าเธอจะมาไหม จะมาเมื่อไร มาแล้วแต่งตัวสวยไหม อารมณ์ดีหรือไม่ ฯลฯ ความวิตกกังวลเหล่านี้เกือบทำให้ผมคลั่งได้

หลังจากที่ be Political Economy เกิดมาในโลกหนังสือได้ปีกว่า มีผู้คนเริ่มรู้จักมันมากขึ้น ส่วนใหญ่ตามงานที่มหาวิทยาลัยที่พวกเราไปทั้งแจกและขาย มีคนเคยถามว่าทำไมเราตั้งราคาที่ 40 บาท ผมตอบไปว่า ผมคิดว่าราคา (บางที) สามารถสื่อถึงคุณค่าของสินค้าได้ เราไม่อยากทำแล้วแจกฟรีเพราะมันอาจทำให้หนังสือที่เราทำดูไร้ค่า เราไม่อยากตั้งราคาให้มันแพงแต่ก็ไม่อยากให้มันดูด้อยค่าเกิน ผมคิดว่าราคา 40 บาทเป็นราคาที่เหมาะสม อย่างน้อยมันก็แพงกว่าการ์ตูนปกติแค่ 10 บาท

พวกเราไม่ค่อยได้เน้นเรื่องขายสักเท่าไร สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่าคนไม่พอ สาเหตุที่สองคือเหนื่อยล้าจากการทำต้นฉบับมากแล้ว รายได้จากการขายจึงไม่เพียงพอที่จะไปใช้พิมพ์วารสารเล่มใหม่ ผมจึงต้องใช้วิชา “หน้าด้าน” ไปขอเงินจากผู้ใหญ่ที่นับถือ ซึ่งก็ได้รับความเมตตาเป็นอย่างดีทำให้งานเด็กๆฝีมือดีๆยังมีอยู่ได้ หลังจากนั้นเราได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการ YIY (Youth Innovation Year) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส. อีกทีทำให้เรามีเงินเพียงพอที่จะทำหนังสือดีๆได้อีกหนึ่งปี

ถ้าถามผมว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้วารสารของเรายังอยู่ได้จนถึงวันที่ผมเขียนข้อความนี้อยู่ ผมคิดว่าเป็นเพราะความที่ผมเป็นคนโชคดีที่ได้ทีมงานที่มีความสามารถมากๆ อย่างเช่นน้องพิม BE#11 เป็นคนที่ผมไปหลอกล่อเขามาช่วยทำ be Political Economy มากับมือ ผมจำได้ว่าผมบังเอิญเห็นใบสมัครร่วมทำงานละคอน แล้วสะดุดตรงที่เขาเขียนว่า “สามารถใช้โปรแกรม Adobe PageMaker และ Adobe Illustrator ได้ (อย่างดี)” ผมบอกกับพี่จ๊อกว่าคนนี้แหละใช่เลยที่จะทำ Artwork ให้เรา และพวกเราก็ไม่เคยผิดหวังกับงานที่น้องพิมทำให้ตั้งแต่เล่ม 2 เป็นต้นมา

ผมชวน คุณกระต่ายน้อย มาช่วยเขียนบทความในเล่ม 3 และเล่ม 4 เขาเขียนได้ดีมากๆ ผมขอให้เขาช่วยผมทำวารสารด้วย ช่วยออกความคิด ช่วยดูบทความ ฯลฯ ทำให้ลดภาระของผมได้มากมายทีเดียว

น้องปิ่นน้องเอกน้องแจ BE#10 เป็นกำลังที่จะทำให้หนังสือของเราอยู่ต่อไปอีกหลายปี น้องปิ่นช่วยทำปก บทความของน้องเอกถูกตีพิมพ์ในวารสารทุกฉบับ และน้องแจได้ช่วยทำให้ผมทำงานได้ดียิ่งขึ้น

มีผู้คนอีกจำนวนมากที่ได้ช่วย be Political Economy ตั้งแต่เล่มแรกที่ผมสามารถรวบรวมรายชื่อได้พวกเขาได้เขียนบทความ ให้คำแนะนำ หรือได้ช่วยเหลือไม่ทางใดก็ทางหนึ่งตลอด 5 เล่มที่ผ่านมา พวกเขาได้แก่ อ.ปกป้อง อ.ภาวิน อ.นิธินันท์ อ.ปราณี (ธรรมศาสตร์) อ.วรากร อ.อนุวัติ (ม.ธรุกิจบัณฑิต) พี่สูง BE#2 พี่อุ๊ BE#5 พี่จ๊อก พี่โอม พี่นัท พี่ตอง พี่สุนิตย์ พี่ป๋อ พี่จ๋า พี่จิ๊ฟ พี่ป่าน พี่บิ๊ก พี่จอย BE#7 ปิ๊น โอม (ลูกค้าคนแรกทุกเล่ม) เต้ พิม แนน อ้น โจ เตย BE#8 น้องเกด น้องโบ๊ต น้องอามัน น้องเอด้า น้องนิจ BE#9 น้องเอก น้องแจ น้องวีระ น้องโบ น้องเหลย น้องปิ่น น้องมิ้นท์ น้องฟ้า น้องเหลย น้องไป๋ น้องต่อ BE#10 น้องพิม น้องแป๊บ น้องสิงห์ น้องต้า น้องซือๆ น้องแอม น้องเป้ย น้องเก็ต น้องแม๋ม น้องปาล์ม น้องอู๋ น้องธัช น้องแอน น้องบ๊อบ น้องน๊อต BE#11 และมีอีกหลายคนที่ผมนึกไม่ออกจริงๆ

ตลอดเวลาตั้งแต่ร่วมเป็นผู้ก่อการ be Political Economy จนถึงเล่มที่ 5 ก็เป็นเวลาหนึ่งปีครึ่งพอดี มีคนเคยกล่าวชมผลงานที่พวกเราทำออกมา แต่สำหรับผมแล้ว ผมงานบรรณาธิการของผมถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่ผมคิดว่าพวกเรายังมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้มันดีกว่านั้นได้อีก พวกเรายังต้องการการปรับปรุงและพัฒนาอีกเยอะ

Echo เป็นชื่อใหม่ของวารสารที่พวกเราทำ สาเหตุหลักที่เราเปลี่ยนชื่อคือประเด็นการตลาด และเราต้องการจัดรูปจัดร่างวารสารให้ดู “โปร” มากขึ้น โดยไม่ละยอมทิ้งอุดมการณ์และความตั้งใจที่จะสร้างสิ่งดีๆของพวกเราไป ผมโชคดีที่ได้น้องเกด BE#9 รับหน้าที่บรรณาธิการสืบทอดต่อไป ผมหวังว่า Echo จะเป็นวารสารที่ทำโดยนักศึกษาเพื่อวงการศึกษาและสังคมไทยที่ดีเล่มหนึ่ง

ผมอยากปิดท้ายบทความนี้ด้วยข้อความเดียวกับที่ผมเขียนไว้ในบทส่งท้ายของ be Political Economy เล่ม 5 เล่มสุดท้ายที่ผมเป็นบรรณาธิการ เล่มสุดท้ายที่เราใช้ชื่อประหลาดนั้น

“...ผมรู้สึกว่าบางประโยค บางวลีในภาษาอังกฤษสามารถถ่ายทอดความหมายของความรู้สึกและอารมณ์ได้ดีกว่าหลายภาษา ผมขอมอบคำพูดให้กับรุ่นพี่ เพื่อนๆ น้องๆ ทุกคนที่ช่วยเหลือ be Political Economy ให้มีมาถึง 5 เล่มรวมถึงผู้อ่านทุกท่านด้วยวลีที่ว่า ‘Thanks for memories’...”

ขอบคุณสำหรับความทรงจำที่แสนดี ที่ชื่อ be Political Economy

2 Comments:

  • ผมก็ดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในขบวนการผู้ก่อตั้งหนังสือ be Political Economy ขึ้นมา...

    ผมได้รับและได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจาก be Political Economy จวบจนมาเป็น ECHO ในปัจจุบัน

    ตอนนี้ พี่เกดกำลังจะไปเรียนต่อ ผมได้รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการคนต่อไปอีกหนึ่งปี ความรู้สึกผมตอนนี้ก็คงคล้ายๆกับพี่ตอนเป็นบก.เล่มแรก

    ผมมีความหวาดหวั่นว่าจะทำหนังสือออกมาไม่ดี แต่อีกใจหนึ่ง ผมก็มีความมั่นใจว่าจะทำออกมาได้ดียิ่งขึ้น สืบสานเจตนารมย์ของหนังสือต่อไป

    ยิ่งผมโชคดีได้ร่วมงานกับทีมงานดีๆหลายคน ทั้งรุ่นผมและรุ่นน้อง ขนาดเพิ่งเริ่มงานกันได้ไม่ถึงเดือน ผมก็ประทับใจมากแล้ว ทำให้ผมเกิดความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าหนังสือจะออกมาดีและเป็นที่พอใจ...

    เดี๋ยวผมว่างผมจะเขียนถึง echo ในบล็อกนะครับ

    ตอนนี้ขอให้พี่ dawdle man เที่ยวให้สนุกนะครับ

    By Blogger David Ginola, at 5:13 pm  

  • รออ่าน

    By Blogger pin poramet, at 11:43 pm  

Post a Comment

<< Home