Dawdle Man

20 September 2006

Blowin' in the wind



ผมเสียใจ และผิดหวัง กับเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน
ผมไม่คิดว่า ภาพที่คล้ายคลึงกับความทรงจำในอดีต จะปรากฏต่อหน้าผมอีกครั้ง

สำหรับผมแล้ว
ไม่ว่าผลลัพธ์ ของเรื่องราวทั้งหมดจะลงเอยเช่นไร
ไม่ว่าจะเหตุการณ์รุนแรง เกิดขึ้นหรือไม่
ทั้งหลาย ทั้งปวง เหล่านั้น คือสิ่งยืนยันอย่างดีว่า

"ประวัติศาสตร์ คอยตอกย้ำ ซ้ำๆ ให้เราเรียนรู้อยู่เสมอๆ ว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย แม้แต่ครั้งเดียว"

ผมได้แต่หวังลึกๆ ว่า
สักวันหนึ่ง
วัฒนธรรมการเมืองของสังคมนี้ จะแข็งแก่งยิ่งขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
เราจะไม่ต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้นกันใหม่ อีกครั้งหนึ่ง

Blowin' in the Wind
Song and Lyrics: Bob Dylan

How many roads must a man walk down
Before you call him a man?
Yes, 'n' how many seas must a white dove sail
Before she sleeps in the sand?
Yes, 'n' how many times must the cannon balls fly
Before they're forever banned?
The answer, my friend, is blowin' in the wind,
The answer is blowin' in the wind.

How many times must a man look up
Before he can see the sky?
Yes, 'n' how many ears must one man have
Before he can hear people cry?
Yes, 'n' how many deaths will it take till he knows
That too many people have died?
The answer, my friend, is blowin' in the wind,
The answer is blowin' in the wind.

How many years can a mountain exist
Before it's washed to the sea?
Yes, 'n' how many years can some people exist
Before they're allowed to be free?
Yes, 'n' how many times can a man turn his head,
Pretending he just doesn't see?
The answer, my friend, is blowin' in the wind,
The answer is blowin' in the wind.

10 July 2006

To reach the unreachable star


To dream the impossible dream
To fight the unbeatable foe
To bear with unbearable sorrow
To run where the brave dare not go
To right the unrightable wrong
To love pure and chaste from afar
To try when your arms are too weary
To reach the unreachable star
This is my quest to follow that star
No matter how hopeless, no matter how far
To fight for the rightWithout question or pause
To be willing to marchInto hell for a heavenly cause
(จากส่วนหนึ่งของเพลง The Impossible Dream)
เพลงประกอบละคอนเวทีเรื่อง Man of La Mancha

วินาทีที่ อัลแบร์โต จิลาดิโน ผ่านลูกบอลถึงเท้า อเล็กซานโดร เดล ปิเอโล กองหน้าทีมชาติอัซซูรี่ ที่วิ่งสอดขึ้นมาจากแถวสองในกรอบเขตโทษด้านซ้าย โดยปราศจากการประกบของกองหลังทีมชาติเยอรมัน นาทีที่ 120 ของการแข่งขัน วินาทีนั้นผมสำนึกว่าฟุตบอลโลก 2006 ของผมสิ้นสุดลงแล้ว

จริงอยู่…ผมไม่เคยคาดหวังว่าปีนี้ผมจะเห็นภาพ มิคาเอล บัลลัค จุมพิตถ้วยฟุตบอลโลก พร้อมกับการฉลองอย่างยิ่งใหญ่ของชาวเยอรมัน แต่สำหรับส่วนลึกของจิตใจ ผมก็อดผิดหวังไม่ได้ที่ การไขว่คว้าดาวดวงที่ 4 มาประดับหน้าอกของทีมชาติที่ผมติดตาม ก็ยังเป็นเพียงความฝันที่ยังเอื้อมไม่ถึงอยู่ดี

ผมนอนไม่หลับ ร่างกายตื่นตัวเพราะ อาดินารีน ที่พรุ่งพร่านจากความตื่นเต้นตลอดการแข่งขัน ในคืนนั้น ผมนั่งลำลึกประสบการณ์ในวัยเยาว์ ที่ถูกซุกซ่อนไว้ในส่วนลึกของลิ้นชักความทรงจำ ผมใช้เวลารื้อค้น ปัดฝุ่น และย้อนเวลากลับไปดื่มด่ำกับบรรยากาศดีๆ ในอดีตอีกครั้ง

----[1]----

ทุกคนล้วนผ่านชีวิตวัยเยาว์ ที่เต็มด้วยสีสัน และจินตนาการอันงดงาม

ไม่มากก็น้อย เราทุกคนต่างเคยมีบุคคล ที่เราติดตาม เป็นตัวอย่าง หรือเป็นทุกสิ่งที่เราอยากเป็น

เช่นเดียวกัน ในชีวิตของคนเราล้วนเจอกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งเพื่อนฝูง การเรียน การงาน ความรัก หรือชีวิตครอบครัว

แต่สำหรับทีมฟุตบอลที่เราเลือก ที่เราเชียร์ และที่เรารัก คือสายเลือดที่จะอยู่กับเราตลอดไป

ผมรู้จักมหกรรมฟุตบอลโลก พร้อมๆ กับการรู้จัก ทีมชาติเยอรมัน

คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่า ทีมชาติเยอรมันเมื่อ 16 ปีที่แล้วคือชุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1974 ทีมชุดนั้นประกอบด้วยนักเตะระดับโลกหลายคนทั้งกองหลัง กองกลาง และกองหน้า

ท่าที่ผมจำได้ นักเตะทีมชาติอินทรีเหล็กระดับซุปเปอร์สตาร์ หลายคนได้รับฉายาพิลึกๆ ที่สื่อมวลชนไทยตั้งให้ เช่น “ซุปเปอร์แมน” – โลธาร์ มัทเทอุส, “ฉลามขาว” – เจอร์เก้น คริ้นส์มัน, “ยอดคนแสนคม” – โทมัส เฮสเลอร์ และ “เจ้าเป็ดน้อย!?” – รูดี้ โฟล์เรอร์ ผมเชื่อว่า ส่วนใหญ่ ฉายาเหล่านั้นล้วนได้รับอิทธิพล จากภาพยนตร์อเมริกัน ที่เข้ามาฉายในประเทศอยู่บ้าง

ฉายาผู้เล่นที่แสนแปลก ประกอบกับชื่อเล่นทีมที่แสนเท่ห์ - สิ่งเหล่านี้เป็นแม่เหล็กดึงดูดใจเด็กๆ อย่างผม เป็นสมาชิกอินทรีเหล็กแฟนคลับได้อย่างไม่ยากนัก และเมื่อผลงานอันยอดเยี่ยมของพวกเขา – การคว้าดาวดวงที่สามมาประดับหน้าอก ก็ยิ่งเป็นเหตุผลผูกใจของผมไว้กับ ทีมฟุตบอลจากยุโรปนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สำหรับผม ในวัย 10 ขวบ การที่ได้เห็นทีมฟุตบอลที่รัก ครองความยิ่งใหญ่ระดับโลก เป็นเหมือนความฝัน เหมือนกับตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ครั้งนี้

หลังจากนั้น 2 ปี ทีมอินทรีเหล็ก ภายใต้การคุมทีมของ แบร์ตี้ โฟร์ก ผู้สืบทอดตำแหน่งของ เบคเคนบาวเออร์ ที่ลาออกหลังจากนำทีมถึงจุดสูงสุด ยังคงด้วยผู้เล่นหลักที่คว้าแชมป์โลกที่อิตาลีอยู่ บททดสอบแรกของการคงความยิ่งใหญ่ของศักดิ์ศรี “แชมป์โลก” อยู่ที่ประเทศสวีเดน ในทัวร์นาเมน์ ยูโร 1992 แต่ปีนั้นกลับเป็นปีของ ทีมชาติเดนมาร์ก ที่ได้รับสิทธิ์เข้าแข่งขันแทนยูโกสลาเวีย (เพราะมีปัญหาทางการเมือง) ในวินาทีสุดท้าย กลับแสดงผลงานอย่างเหนือนความคาดหมาย ด้วยพลังประสานของ สองพี่น้อง “ไมเคิล-ไบรอัน เลาดรู๊ป” คว้าแชมป์ ด้วยการโค่นทีมแชมป์โลก 2-0

ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปต่อเดนมาร์กในคืนนั้น ทำให้ผมรู้ว่า “ตำแหน่งมือวางอันดับ 1” ของโลก (หรือกาแล็คซี่) และ “แชมป์โลก 3 สมัย” ไม่เป็นเครื่องการันตีของชัยชนะ ตลอดไป

----[2]----

ปฏิทินตั้งโต๊ะฉบับเก่าถูกเปลี่ยนไป มหกรรมฟุตบอลโลก กลับมาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นครั้งแรก ที่ฟุตบอลโลกจัดในประเทศที่ (เชื่อว่า) ประชาชนกว่าครึ่งไม่รู้จักกีฬาชนิดนี้ และสิ่งที่น่าขันที่สุดก็คือ – สนามที่ใช้แข่งฟุตบอลโลกทั้งหมด เป็นสนามที่ปกติใช้ในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล!

นักวิเคราะห์หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อเมริกา เป็นตลาดใหญ่ มีเงินทุนมหาศาล ดังนั้นฟีฟ่าจึงต้องการสร้างฟุตบอลให้เป็นกีฬาที่อเมริกันชนนิยม เพื่อขยายขอบเขตความมั่งคั่งขององค์กร ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงยอมเสี่ยงใจเลือก อเมริกาเป็น เจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1994

ว่ากันว่า อาถรรพ์ฟุตบอลโลกมีจริง ทีมชาติจากยุโรปไม่เคยชูถ้วยฟุตบอลโลกที่ทวีปอเมริกา แม้แต่ครั้งเดียว ขณะเดียวกัน ทีมฟุตบอลจากทวีปอเมริกา ก็ไม่เคยคว้าแชมป์ในดินแดนยุโรปเลย ยกเว้นการคว้าแชมป์ครั้งแรก ของบราซิล เมื่อปี 1954 ที่ประเทศสวีเดน ฟตุบอลโลกปีนั้นจบลงด้วยความยิ่งใหญ่ของทีมชาติบราซิล ที่สามารถคว้าแชมป์สมัยที่ 4 ได้สำเร็จ

เป็นครั้งสองที่ผมต้องอกหักจากทีมฟุตบอลที่ผมเชียร์ สำหรับชาวเยอรมัน การแข่งขันที่อเมริกา คงไม่ใช่สิ่งที่น่าจดจำสำหรับพวกเขา หลายคนโทษอากาศที่แสนร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนของสหรัฐ แต่ผมกลับไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น

ผมเชื่อว่า ความสามารถนักเตะที่หลงเหลือจากชุดแชมป์โลก 1990 ส่วนใหญ่เริ่มถดถอยลงตามเวลา เนื่องอายุที่มากขึ้น อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นสาเหตุจากการที่นักเตะชุดนี้ไม่ค่อยมีความสามัคคีกันมากนัก จึงทำให้ผลงานโดยรวมของพวกเขาอยู่ในระดับค่อนข้างน่าผิดหวัง เส้นทางของขุนพลทีมชาติเยอรมันจึงสิ้นสุดที่รอบ 8 ทีมสุดท้าย ด้วยผลงานยอดเยี่ยมของทีมชาติบัลกาเลีย และการแจ้งเกิดของนักเตะระดับโลกคนใหม่ ฮริสโต สตอยคอฟ ที่แสดงผลงานระดับยอดเยี่ยมจบคว้าตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมของฟีฟ่า ไม่กี่ปีต่อมา

สองปีต่อมา วงการฟุตบอลเยอรมันกลับมาสู่จุดสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการคว้าแชมป์ยูโร 1996 ฟอร์มการเล่น ของลูกทีม แบร์ตี้ โฟร์ก ชุดนี้จัดว่าค่อนข้างเยี่ยม ถึงแม้ว่านักเตะหลายคนคืออดีตแชมป์โลกปี 1990 ที่เริ่มมีอายุมากขึ้น การฉลองชัยครั้งนี้มีนัยพิเศษอยู่ 2 ประการ คือ หนึ่งการล้างตาจากความผิดหวังในนัดชิงชนะเลิศของรายการนี้เมื่อ ปี 1992 และสอง การคว้าแชมป์ในแผ่นดินอังกฤษ ประเทศที่ถือว่าเป็น คู่รัก-คู่แค้น ตลอดกาล ทั้งด้าน ประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และวงการฟุตบอล การชูถ้วยของกัปตัน เจอร์เก้น คริ้นส์มันส์ ที่สนาม เวมบรีย์ คงเป็นภาพอัปยศฝังใจชาวอังกฤษไปหลายปี ที่ยากจะลืมเลือน

----[3]----

สัจธรรมที่ว่า “เมื่อสิ่งใดถึงจุดสูงสุด มันก็จะตกลงมา” เป็นจริงเสมอ

เค้าลางของความตกต่ำวงการฟุตบอลเยอรมันเริ่มต้นในฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศส เส้นทางของเยอรมันสิ้นสุดที่รอบ 8 ทีมสุดท้าย (เหมือนกับ 4 ปีก่อนหน้า) ด้วยความพ่ายแพ้ต่อฝีทีมชาติโครเอเชียอย่างหมดรูป ด้วยฟอร์มการเล่นที่ไม่เหลือลวดลายของ “จ้าวยุโรป” แม้แต่น้อย ตำแหน่งกุนซือทีมชาติของ แบร์ตี้ โฟร์ก จึงสิ้นสุดลงในวันนั้น และผู้รับตำแหน่งคนใหม่คือ อีริค ริบเบค ที่ต้องทำหน้าที่ไปป้องกันแชมป์ยุโรปอีก 2 ปีต่อมา

การตกรอบแรกอย่างหมดรูปในฟุตบอลยูโร 2000 ที่ประเทศ เนเธอร์แลนด์/เบลเยี่ยม สองปีหลังจากนั้น คือสิ่งที่ตอกย้ำว่า ประวัติความยิ่งใหญ่ของทีมอินทรีเหล็ก นับแต่ปลายยุค 1980 นั้นสิ้นสุดไปนานแล้ว ในสายตาแฟนบอลทั้งหลาย ทีมชาติเยอรมัน เป็นกลายเป็นทีมระดับเกรดบี ที่พร้อมจะแพ้ให้แก่ทุกทีมที่ลงแข่งขันด้วย

ความตกต่ำของวงการฟุตบอลเยอรมันน่าจะมีสาเหตุจาก การที่นักเตะของทีม ส่วนใหญ่มีอายุค่อนข้างสูง สังเกตได้จากอายุเฉลี่ยของทีมที่สูงระดับ 28 ปี นับตั้งแต่การแข่งตั้งแต่ฟุตบอลยูโร 1996 ซึ่งเป็นเพราะการที่พวกเขาพึ่งพิงนักเตะชุดแชมป์โลก 1990 มากเกินไป จึงทำให้นักเตะรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้รับโอกาสให้แสดงผลงานและพัฒนาประสบการณ์กับเกมส์ใหญ่ๆ โดยเฉพาะนักเตะตำแหน่งกองหน้า ที่เป็นหัวใจของเกมรุกของทีม

อีกสาเหตุหนึ่งคือ การที่รูปแบบการเล่นของเยอรมัน ไม่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของลักษณะเกมส์ฟุตบอลในปัจจุบันที่เน้นความเร็ว ความแข็งแกร่งของนักกีฬา จริงอยู่นักเตะเยอรมันขึ้นชื่อว่าเปี่ยมด้วยความแข็งแกร่งทุกยุค ทุกสมัย แต่สไตล์การเล่นแบบ “เหนียวแน่น-หาจังหวะสวนกลับ” สิ่งที่พวกเขายังยือถือเป็นตำราของทีมมานับสิบปี เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อเกมส์ฟุตบอลสมัยใหม่ และทุกทีมที่แข่งต่างก็รู้ทางเยอรมันเป็นอย่างดี

ฟุตบอลโลกปี 2002 เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปเอเชีย ทีมชาติเยอรมันที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นฟูจากความตกต่ำ ถึงแม้ว่าลูกทีมของ รูดี โฟร์เลอร์ จะทำได้ดีในการแข่งรอบแรก แต่เมื่อเจอคู่แข่งในรอบหลังๆ พวกเขากลับชนะคู่แข่งอย่าง ปารากวัย, อเมริกา และ เกาหลีใต้ แบบหืดขึ้นคอ ทั้งๆ ที่ชื่อชั้น และศักดิ์ศรีนั้นห่างเกินจากความยิ่งใหญ่ของอดีตแชมป์โลก 3 สมัย ดังนั้นการพบกับบราซิลในวันสุดท้ายของการแข่งขัน จึงถือว่าเป็นความ “ฟลุค” ครั้งยิ่งใหญ่ของวงการฟุตบอลเยอรมัน ในสายตาของผม และผลการแข่งขันก็เป็นข้อยืนยันว่า ความสามารถของเยอรมันนั้นยังห่างไกลจากความยิ่งใหญ่นัก

กาตกรอบแรกในฟุตบอลยูโร 2004 ที่โปรตุเกส อย่างน่าอับอายอีกครั้งหนึ่ง เป็นแรงผลักดันให้สมาคมฟุตบอลเยอรมัน ตั้งใจแก้ไขปัญหาของทีมชาติอย่างแท้จริง การว่าจ้าง เจอร์เก้น คริ้นส์มันส์ อดีตศูนย์หน้าผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์คุมทีมฟุตบอลสโมสร แม้แต่ครั้งเดียว คือการพนันครั้งใหญ่ของสมาคมที่ต้องการขับดันให้ ทีมอินทรีเหล็กกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2006 ที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพ

การเข้ามาของคริ้นส์มันส์ คือการเปลี่ยนแปลงของทีมชาติเยอรมันอย่างแท้จริง เขานำ “พรรคพวก” ชุดแชมป์ยูโร 96 เข้ามาเป็นทีมงานสายเลือดใหม่ เช่น ดีเตอร์ ไอส์ (มิดฟิลด์ตัวรับ) เป็นหัวหน้าโค้ชชุด U-21, อันเดียส คอปเค่ (ผู้รักษาประตู) เป็นโค้ชผู้รักษาประตู มาเทียส ซามเมอร์ (ลิเบโร่), เป็น Sport Director, โอลิเวอร์ เบียรโฮฟ (กองหน้า) เป็น General Manager อีกทั้งนำโค้ชด้านความฟิตที่มีประสบการณ์ในวงการกรีฑาชาวอเมริกัน มาเป็นหนึ่งในทีมของเขา

ที่สำคัญคริ้นส์มันส์ ได้สร้างรูปแบบการเล่นใหม่ขึ้นมา เขาเปลี่ยนแผนการเล่นแบบ 3-5-2 มาเป็น 4-4-2 และใช้รูปแบบการเล่นแบบเปิดเกมรุก ทำให้เยอรมัน เป็นหนึ่งในทีมที่มีรูปแบบการเล่นน่าติดตามมากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากอดีตอย่างลิบลับ

ผลงานของพวกเขาที่ไม่สวยหรูในนัดอุ่นเครื่อง ไม่ทำให้ใครต่อใครเชื่อได้ว่าเยอรมัน มีดีพอที่จะกลับมาทวงบัลลังก์แชมป์โลก แต่เมื่อการแข่งขันเริ่มต้น และทีมอินทรีหนุ่มแสดงผลงานอย่างยอดเยี่ยมในแต่ละนัดที่พวกเขาลงเล่น ทุกคนจึงเชื่อว่าเยอรมัน มีดีพอที่จะคว้าดาวดวงที่ 4 ไปประดับหน้าอก

---[4]---

ประตูที่สองของอิตาลี ด้วยฝีเท้าของ อเล็กซานโดร เดล ปิเอโร คือการปิดประตูเส้นทางสู่นัดชิงชนะเลิศของทีมชาติเยอรมัน พร้อมกับต่อเวลาให้ผมต้องรอวันฉลองความยิ่งใหญ่ของทีมฟุตบอล ทีมแรกที่ผมเชียร์ไปอีกอย่างน้อง 4 ปี

อย่างน้อยที่สุด การคว้าอันดับที่ 3 ในบ้านเกิดของเยอรมัน เป็นสัญลักษณ์ประกาศให้ผมและชาวโลกมั่นใจ ความยิ่งใหญ่ของทีมชาติเยอรมัน กำลังจะกลับมา และพวกเขาต้องตำแหน่งแชมป์ ยูโร 2008 ในอีก 2 ปีข้างหน้าเท่านั้น

----[5]----

ฟุตบอลโลกปิดฉากลงด้วยเสียงหัวเราะของทีมชาติอิตาลี และคราบน้ำตาของชาวฝรั่งเศส สำหรับผมแล้ว ถึงแม้ว่าทีมของผมจะต้องพยายามไขว่คว้าดวงดาวอีกต่อไป แต่มันก็เป็นช่วงเวลาดีๆ ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสย้อนมิติ กลับเวลาไปในอดีต ได้นึงถึงเวลาที่ผ่านมา และกลับไปสู่ความทรงจำแสนดีที่เริ่มมีสีจางๆ อีกครั้งหนึ่ง

14 May 2006

Always: Sunset on the third street



ความฝันเป็นสิ่งสวยงาม เป็นสิ่งคอยย้ำเตือน ซ้ำๆ ว่าเรายังมีจุดหมายต้องไปให้ถึง เล็กบ้าง ยิ่งใหญ่บ้าง แต่เราทุกคนล้วนมีความฝัน

...แม้เวลาที่เราต้องพบความเจ็บปวด

มีโอกาสไปดูหนังญี่ปุ่นเรื่อง “Always: Sunset on the third street” เมื่อคืนวันอังคาร ใจจริงตั้งใจจะรอไปกับเพื่อนๆ ที่เรียนมาช่วงปลายสัปดาห์นี้ แต่หลังจากได้อ่าน synopsis ของหนัง บวกกับ comments ใน pantip.com เกิดความรู้สึกว่าระยะอีก 4-5 วันกว่าจะถึงวันเสาร์ที่จะต้องรอนั้นยาวนานนับปี อดทนรอไม่ไหว จึงด่วนตัดสินใจไปที่ House Rama เพื่อดูหนังรอบ 1 ทุ่มครึ่งในคืนนั้น

รู้สึกดีใจที่ตัดสินใจไม่ผิด ทั้งที่ใจตั้งความหวังไว้สูงไว้กับคำแนะนำทั้งหลาย หนังฉายจบเกือบ 4 ทุ่ม เดินออกจากโรงหนังรู้สึกอบอุ่น รู้สึกดี มีความสุข โลกนี้ดูสดใส

โชคดีที่ได้ดูหนังดีๆ อีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าความทรงจำเก่าๆ ยังไม่ลืมเลื่อน นี่เป็นความรู้สึกเดียวกันหลังจากได้ดู “Be with you” ครั้งแรก ช่วงเดือนนี้ของปีที่แล้ว

แตกต่างที่คืนนี้ฝนไม่ตก และไม่มีคนเคียงข้าง

เรื่องเล่า “Always: Sunset on the third street” เริ่มขึ้นในชุมชนแห่งหนึ่งบนถนนสายเล็ก ในกรุงโตเกียวปี 1958 ที่มีฉากหลังเป็น Tokyo Tower ที่กำลังก่อสร้างอยู่

เรื่องราวทุกอย่างคงไม่เกิดขึ้นหากไม่มีสมาชิกใหม่ของชุมชนนี้ คนแรกเป็นหญิงสาวที่เดินทางจากต่างจังหวัดเพื่อมาตั้งใจมาทำงานกับบริษัทรถยนต์ใหญ่ๆ แต่กลับเป็นอู่ซ่อมรถเล็กๆ ในชุมชน อีกคนหนึ่งเป็นเด็กชายวัยประถมที่ต้องระหกระเหินมาอยู่กับหญิงสาวเจ้าของร้านเหล้าในชุมชนเพราะถูกแม่ทิ้ง แต่สุดท้ายเขาต้องถูก “ฝากเลี้ยง” ไว้กับเจ้าของร้านขายขนมเล็กๆ ผู้มุ่งมั่นกับการเป็นนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงอีกทอดหนึ่ง

ทุกคนในชุมชนดำเนินตามวิถีทางของตนเองตามปกติ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาและการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ในชุมชน แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ ความฝันอันแสนงามที่แต่ละคนมี และอุดมการณ์ ความหวังของที่คนทั้งชาติมีแบ่งร่วมกัน แม้บาดแผลจากสงครามยังฝังลึกอยู่ในจิตใจของทุกคนก็ตาม

หนังเรื่องนี้ถ่ายทอดความงดงามในแง่หนึ่งของมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ ออกมาได้อย่างสมบูรณ์ยิ่ง ความสวยงามของการถ่ายภาพและ การกำกับศิลป์ ผสมกับความสามารถของนักแสดง และความลงตัวของบท จีงไม่แปลกใจเลยที่หลายฉากในหนังเรื่องสามารถเรียกเสียงหัวเราะ และสามารถสะกิดต่อมน้ำตาแห่งความซาบซึ้งได้หลายจังหวะ

เดินออกจากโรงหนัง ขับรถกลับบ้าน จิตใจรู้สึกอิ่มเอิบ นึกทบทวนเรื่องราวที่ได้ดูตลอด 2 ชั่วโมง หยิบโทรศัพท์ โทรไปชักชวน เชิญชวน หลอกล่อ บังคับ ขู่เข็ญ เพื่อนหลายๆ ไม่อยากให้พราดโอกาสได้ดู “หนังดีๆ” ที่นานๆ ทีจะมีสักครั้ง

อาจจะสายไปนิด แต่ก็ยังพอมีเวลาเหลืออยู่ แล้วจะรู้ว่าค่าตั๋วกับเวลาที่เสียไป มันคุ้มค่าจริงๆ

19 November 2005

ใครคือนักเศรษฐศาสตร์?


ก่อน post

คงเป็นเพราะความขี้เกียจ ผมถึงปล่อยให้ Blog ไร้การ update มาเกือบเดือน

ช่วงนี้สมองไม่แล่น ไอเดียไม่มา ปัญญา (ที่มีน้อยอยู่แล้ว) จึงไม่เกิด จึงอยาก post บทความเก่า ที่เคยเขียนลง Echo เล่มแรก

บทความนี้เขียนราวๆ หนึ่งสัปดาห์ก่อนผมเข้ารับปริญญา เป็นการค้นหาคำตอบให้แก่คำถามง่ายๆ โง่ๆ ที่ผมเคยทิ้งไว้กับตัวเอง ว่า "ใครคือนักเศรษฐศาสตร์" เมื่อสมัยที่ผมเป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์

เชิญทัศนา

------------------------------------------

ใครคือนักเศรษฐศาสตร์?
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Echo เล่มแรกสุดๆ


โดยปกติแล้วราวๆต้นเดือนกรกฎาคมจนถึงต้นเดือนสิงหาคม เป็นช่วงเวลาที่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยของรัฐต้องเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สถานภาพของนักศึกษากลายเป็น “บัณฑิตใหม่” ที่สังคม (อาจ) คาดหวังว่าปัญญาชนเหล่านี้สามารถนำความรู้ที่เขาร่ำเรียนมาใช้เพื่อพัฒนาสังคม ให้สมกับเงินภาษีที่อุดหนุนค่าเล่าเรียนของพวกเขา

อีกไม่กี่วันหลังจากผมเขียนต้นฉบับบทความนี้เสร็จ ผมจะเป็นเศรษฐศาสตร์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับเพื่อนๆร่วมรุ่นอีกหลายคนที่เรียนมาด้วยกัน
ผมคิดว่าผู้คนในสังคม (ส่วนหนึ่ง) มอบตำแหน่ง “นักเศรษฐศาสตร์” พ่วงท้ายชื่อของผมและเพื่อนๆตั้งแต่เข้าเรียนที่คณะใหม่ๆแล้ว

เพื่อนๆที่โรงเรียนเก่าของผมจำนวนมากเรียนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เพราะพวกเขาตั้งใจเป็นวิศวกรเพื่อสร้างบ้าน สร้างตึก บางคนเข้าโรงเรียนแพทย์เพื่อจบมาจะได้เป็นหมอรักษาคนไข้ หลายคนเรียนนิติศาสตร์เพื่อจะเป็นผู้พิพากษา หรือนักกฎหมาย อีกส่วนหนึ่งเรียนพาณิชย์ศาสตร์เพราะเขารู้ว่าพวกเขาต้องเป็นนักธุรกิจสานต่อกิจการของครอบครัวเขา

ผมตั้งคำถามกับตัวผมว่า เมื่อที่ผมต้องการจะเรียนเศรษฐศาสตร์เป็นเพราะว่าผมต้องการเป็นนักเศรษฐศาสตร์หรือเปล่า?

ผมหาคำตอบให้กับตัวเองไม่ได้เพราะผมยังไม่แน่ใจว่าตอนนี้ผมเป็น “นักเศรษฐศาสตร์” จริงๆหรือไม่ หรืออาจเป็นเพียงชายหนุ่มคนหนึ่งที่เรียนวิชาของคณะเศรษฐศาสตร์มากกว่าหลายๆคน
“แล้วเศรษฐศาสตร์คืออะไรและใครคือนักเศรษฐศาสตร์ล่ะ?” ผมแก้ถามใหม่ บางทีคำตอบที่ได้อาจช่วยแก้ปัญหาที่ผมยังตอบไม่ได้ – ก็เป็นได้

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 ก.ค. 47) ผมและรุ่นน้องอีกสองคนได้นั่งคุยกับนักเรียนม.ปลายจากหลายโรงเรียนกลุ่มหนึ่งที่มหาวิทยาลัย เด็กๆเหล่านี้รวมกลุ่มสมัครพรรคพวกที่ต่างที่สนใจอยากทำความรู้จักกับ “วิชาเศรษฐศาสตร์” มากกว่าที่เขาเคยเรียนตอนอยู่ชั้นม.5 พวกเขารวมกลุ่มทำกิจกรรมค้นหาความรู้เกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์เช่นการอบรมความรู้เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น การดูงานตามหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ รวมถึงการพูดคุยกับ “เด็กเสด” อย่างพวกเรา เพื่อให้พวกเขามั่นใจว่าเศรษฐศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่เขาชอบ

อย่างที่ผมกะไว้ คำถามแรกที่พวกเขา “ยิง” ใส่พวกเรา เป็นคำถามที่แสนคลาสสิก แต่ตอบยากเหลือเกิน พวกเขาถามว่า “เศรษฐศาสตร์เรียนเกี่ยวกับอะไร?”

ต่อไปนี้เป็นคำตอบที่ผมให้กับพวกเขารูปแบบที่ถูกเรียบเรียงมาใหม่ (โดยผนวกความคิดของรุ่นน้องอีกสองคนไว้ด้วย)

“...ผมไม่อยากให้พวกคุณจดจำเศรษฐศาสตร์ในฐานะ ‘วิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดภายใต้ภาวะความต้องการ (ของมนุษย์) ที่ไม่มีที่สิ้นสุด’ อย่างที่พวกคุณมักพบข้อความลักษณะเหล่านี้ในย่อหน้าต้นๆในบทแรกของตำราเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย ผมรู้สึกว่านิยามที่ว่านั้นมันดูคับแคบเกินไปและเป็นการตีกรอบความคิดของนักเรียนเศรษฐศาสตร์ให้อยู่ห่างจากสังคมศาสตร์อื่นๆอยู่พอสมควร
ผมเชื่อว่าหลายๆคนที่สนใจอยากเรียนเศรษฐศาสตร์คงเป็นเพราะว่าอยากรวย อยากเล่นหุ้นเป็น อยากเป็นนักลงทุน อยากรู้เรื่องการเงินการธนาคาร ผมขอบอกว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนประกอบที่ไม่สำคัญของการเรียนเศรษฐศาสตร์เลย


แต่ถ้าให้ผมอธิบายว่าเศรษฐศาสตร์เรียนเกี่ยวกับอะไร...ผมในฐานะคนที่เพิ่งจบมาใหม่ๆ ผมก็จะตอบโดยสรุปสั้นๆว่า เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล และปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาในสังคม พูดง่ายๆก็คือการศึกษาสังคมมนุษย์ (สังคมศาสตร์) ที่เราไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร หรือสามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรในอนาคต โดยอาศัย ‘กรอบความคิด’ หรือแว่นสายตาแบบหนึ่ง ซึ่งแว่นสายตานี้อาจคล้ายกับ Night Vision ที่หากเราเปิดใช้ในห้องมืดก็ทำให้เราสามารถเห็นสิ่งของในห้องได้ แต่เพียงสามสี (ดำ ขาว เขียว) ด้วยแว่นสายตาพิเศษนี้ทำให้เรา ‘เข้าใจ’ สังคมได้ชัดเจนขึ้น และสามารถทำนายได้ว่าจะเกิดอะไรต่อไปภายใต้สีทั้งสามที่เราเห็น

ภายใต้นิยามที่ผมให้ไว้ เศรษฐศาสตร์ก็ทำหน้าที่เดียวกับวิชาสายสังคมศาสตร์อื่นๆ เช่นเดียวกับรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา หรือจิตวิทยา เพียงแต่วิชาเหล่านั้นก็มีกรอบแว่นที่ให้สีในการมองที่แตกต่างกัน แต่จุดมุ่งหมายหลักก็คือทำความเข้าใจพฤติกรรมสังคมมนุษย์

พวกคุณอาจสงสัยว่าถ้าเศรษฐศาสตร์ทำหน้าที่เดียวกับวิชาสังคมศาสตร์อื่นๆ แล้วทำไมเราถึงต้องเรียนเศรษฐศาสตร์ หรือทำไมเราต้องการนักเศรษฐศาสตร์?

ถ้าให้ตอบอย่างง่ายๆก็เป็นเพราะว่าถึงแม้นักเศรษฐศาสตร์หรือ นักสังคมศาสตร์อื่นๆต่างศึกษาสังคมมนุษย์เหมือนกัน แต่ว่ามุมมองของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน มันเหมือนกับกลุ่มคนที่มุงดูรูปปั้นรูปหนึ่ง แต่ละคนจะมองในมุมแต่แตกต่างกันหมด คนที่มองด้านหน้าจะไม่สามารถเห็นข้างหลัง เช่นเดียวกัน...คนที่อยู่ข้างหลังก็ไม่สามารถมองเห็นว่าข้างหน้าเป็นอย่างไร คนที่อยู่ด้านซ้ายขวาก็ไม่รู้ว่าคนที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามเห็นอะไร ดังนั้นถ้าเรามีแต่นักรัฐศาสตร์ เราก็จะมีความเข้าใจสังคมในรูปแบบของความสัมพันธ์ของอำนาจ หากมีแต่นักสังคมวิทยา เราก็จะเข้าใจแต่รูปแบบวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมในสังคมนั้นๆ ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์สามารถเติมเต็มสิ่งที่คนอื่นๆไม่สามารถทำความเข้าใจได้ขัดเท่า ซึ่งก็คือความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจกับสังคม

ความรู้หลักๆที่พวกคุณจะได้จากการเรียนเศรษฐศาสตร์ก็คือ การอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ต่างๆในความหมายของความสัมพันธ์ของหน่วยต่างๆในสังคมในรูปแบบของการแลกเปลี่ยน (Exchange) พูดอย่างนี้คุณอาจไม่เข้าใจ แต่ถ้าผมบอกว่าการที่ผมไปทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งคือการที่ผมไป ‘ขาย’ แรงงานของผมเพื่อ ‘แลก’ กับเงินเดือนที่ผมได้ หรือการที่รัฐบาลขึ้นยอมลดภาษีนำเข้าเพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น ก็คือรัฐยอม ‘สูญเสีย’ รายได้เพื่อให้มีสินค้านำเข้ามากขึ้นและราคาสินค้าในประเทศถูกลง สิ่งเหล่านี้ศาสตร์อื่นๆไม่สามารถอธิบายได้ดีเท่าเศรษฐศาสตร์ นี่คือสิ่งที่เศรษฐศาสตร์ช่วยอุดช่องว่างของคนอื่น

ในฐานะคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์มาสี่ปี ผมสามารถบอกได้ว่ากรอบความคิดแบบเศรษฐศาสตร์นั้นมีมากกว่าการเอาเส้นตรงสองเส้นมาตัดกันแล้วได้ระดับราคาสินค้าพร้อมกับปริมาณสินค้าที่เกิดการแลกเปลี่ยนกัน เศรษฐศาสตร์สอนให้เราคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีขั้นตอนกระบวนการที่ชัดเจนกล่าวคือมันมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับความเป็น ‘วิทยาศาสตร์’ ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ความเป็นวิทยาศาสตร์ในเศรษฐศาสตร์อย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การนำคณิตศาสตร์ หรือเทคนิคทางสถิติศาสตร์เข้ามาเป็น ‘เครื่องมือ’ สำคัญในศึกษาโจทย์ปัญหาทางสังคม ซึ่งวิชาอื่นๆในสังคมศาสตร์แทบไม่มีการประยุกต์เครื่องมือเหล่านี้เข้ากับกรอบความคิดของตน

‘ความเป็นวิทยาศาสตร์’ ของเศรษฐศาสตร์นั้นมันก็เหมือนใบมีดสองคม คือมีทั้งประโยชน์และมีโทษ ประโยชน์มันก็คือ – เราสามารถคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นถ้าราคาสินค้าลดลง 10% ปริมาณสินค้าที่เราสามารถขายได้ (และต้องผลิตเพิ่ม) มีกี่เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนการผลิต รวมถึงรายได้ และกำไรที่ผู้ผลิตได้รับเป็นเท่าไร คณิตศาสตร์สามารถช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้

สำหรับผมแล้วคณิตศาสตร์ไม่ใช่ทุกสิ่ง ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะผมไม่ชอบคณิตศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไร แต่ผมก็มีเหตุผลที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น ผมรู้สึกว่าองค์ประกอบต่างๆในสังคมจำนวนมาก ซึ่งจริงๆแล้วเป็นส่วนใหญ่เสียด้วย ไม่สามารถตีค่าออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน เช่นระดับความสุข ระดับความรู้ความสามารถ หรือแม้แต่กฎเกณฑ์หรือกติกาต่างๆในสังคมเช่นวัฒนธรรม การเมือง ก็ไม่สามารถสรุปออกเป็น Function ที่ตายตัวได้ ในเมื่อเรายังไม่สามารถพัฒนากระบวนการวัดค่าได้อย่างสมบูรณ์เราก็ไม่สามารถให้ค่าตัวเลขที่แท้จริงได้ เราให้แต่ได้ตัวเลขประมาณการ ซึ่งโดยมากในการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ค่าหรือ Function เหล่านั้นจะถูก “แกล้งลืม” ว่ามีอยู่จริงโดยนักคณิต-เศรษฐศาสตร์เหล่านั้น ซึ่งผลที่ได้ก็คือการทำความเข้าใจสังคมภายใต้กรอบความคิดแบบเศรษฐศาสตร์ที่มองเห็นภาพจริงไม่ครบสีนั้นกลับพร่ามัวขึ้นไปอีก

สิ่งที่ผมพยายามเน้นเสมอก็คือ นักเรียนเศรษฐศาสตร์ทุกคนพึงตระหนักว่า เศรษฐศาสตร์คือส่วนหนึ่งของ ‘ศาสตร์’ ทั้งหลายในสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ทุกสิ่งและไม่คิดว่าเศรษฐศาสตร์คือความจริงแท้แน่นอน นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ดีไม่ควรให้ตนเองถูกหล่อหลอมจนกลายเป็น เศรษฐศาสตร์ที่เดินได้ พูดได้ กินได้ พวกเขาควรละลึกเสมอว่า การทำความเข้าใจโลกให้มีความสมบูรณ์และชัดเจนที่สุดต้องอาศัย Night Vision หลายๆแบบเพื่อมองเห็นโลกนี้ในสีที่หลากหลายและมีความชัดเจนที่สุด

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากที่นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนต้องมี แต่น้อยคนพูดถึงมัน สิ่งนั้นคือ ‘คุณธรรม’ กับนักเศรษฐศาสตร์

หลายคนอยากเรียนที่ธรรมศาสตร์เพราะอยากเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ป๋วย เพราะชื่นชมในความเป็นคนดีของท่าน ผมไม่คิดว่าสิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ดีเท่าไรนัก คุณจะอยู่ที่จุฬาฯหรือสถาบันแห่งไหนก็ตาม คุณก็สามารถเป็นลูกศิษย์อาจารย์ป๋วยได้ ขอเพียงแค่คุณนำการใช้ชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างและทำให้ได้มากกว่าท่าน หรืออย่างน้อยสักครึ่งหนึ่งก็ยังดี ผมเชื่อว่าสิ่งนี้ต่างหากคือคำสอนที่แท้จริงของท่าน สิ่งนี้คงคล้ายๆกับที่มหาตมะ คานธี เคยกล่าวว่า “My life is my message.” ก็เป็นได้

ผมเชื่อว่าบ้านเมืองเรามีคนที่เรียกตัวเองว่า ‘ลูกศิษย์อาจารย์ป๋วย’ หรือ ‘ผู้รักและชื่นชมอาจารย์ป๋วย’ มากมายเกินพอแล้ว แต่เราขาดผู้ที่เป็น ‘ยิ่งกว่าป๋วย’ หรือ ‘ป๋วยคนใหม่’ ผู้ที่จะทำให้อุดมการณ์ คุณธรรม และความดีของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีชีวิตอยู่ต่อไปในสังคมที่เน่าเหม็นเช่นนี้

หากพวกคุณเป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ละเลยเรื่องของคุณธรรมไปด้วยแล้ว ผมคิดว่าพวกคุณคงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่พิเศษกว่านักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป คุณจะเป็นคนเก่งขณะที่เป็นคนดี และเป็นคนดีได้พอๆกับที่เป็นคนเก่ง ผมเชื่อว่าถ้าประเทศเรามีคนอย่างนี้เพิ่มขึ้น พวกเราคงสามารถทำอะไรดีๆให้กับคนที่ไม่มีวาสนาเท่าพวกเราได้มากมาย...”

ผมไม่แน่ใจว่าเขาถามได้ตรงกับคำตอบของผมมากเท่าไร เพื่อนผมคนหนึ่งเคยบอกผมว่าเป็นการยากที่จะอธิบายเรื่องของเศรษฐศาสตร์ให้คนที่ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์เข้าใจได้ ผมเข้าใจความรู้สึกนั้นดี และคราวนี้ยิ่งกว่าด้วยซ้ำเพราะคราวนี้คู่สนทนาเป็นเด็กและผมไม่กล้า “โฆษณาชวนเชื่อ” ให้เด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าพวกเขาต้องเลือกคณะที่ตัวเองจะเรียน (อย่างน้อยก็ 4 ปี) และเป็นที่ที่หล่อหลอมความคิดติดตัวเขาไปตลอดชีวิต มันคงไม่ดีที่ผมเจาะจงว่าเศรษฐศาสตร์ดีกว่าวิชาอื่นๆอย่างไร ผมได้แต่หวังว่าคำพูดของพวกเราได้ทำให้เด็กๆเหล่านั้นเข้าใจว่าเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วได้อะไรนอกจาก Demand/Supply GDP/GNP ดัชนีหลักทรัพย์ กลไกอัตราดอกเบี้ย ฯลฯ

ย้อนกลับมาที่คำถามของผม “นักเศรษฐศาสตร์คือใคร?”

หลายคนอาจคิดว่านักเศรษฐศาสตร์คือบรรดา นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในตลาดหุ้น นักการธนาคาร หรืออาจารย์ที่ทำงานอยู่บนหอคอยงาช้างทั้งหลาย แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น

ผมเชื่อว่าใครๆก็สามารถเป็นนักเศรษฐศาสตร์ได้ สำหรับผมนักเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ผู้วิเศษ หรือพ่อมดการเงินอะไร นิยามของคำว่า “นักเศรษฐศาสตร์” ของผมนั้นกว้างมาก มันหมายถึงผู้ที่สนใจศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมทางสังคมโดยอาศัยกรอบความคิดทางเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ว่านั้นสามารถศึกษาได้จากตำรา หนังสือต่างๆ หรือแม้แต่การเฝ้าสังเกตพฤติกรรมต่างๆในเศรษฐกิจหรือสังคม

ผมเริ่มมีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่สมัยชั้นม.ต้น หลังจากที่วันหนึ่งผมนั่งคิดอะไรไปเรื่อยๆ ผม “บังเอิญ” พบความสัมพันธ์ระหว่างราคากับปริมาณสินค้าที่ขายและการผลิต (Demand-Supply) รวมถึงความข้องเกี่ยวกันระหว่างราคาหลักทรัพย์และอัตราดอกเบี้ยทั้งภายในและต่างประเทศ วินาทีนั้นผมเข้าใจความรู้สึกของ “อาร์คิมิดิส” เมื่อเขาค้นพบกฎความสัมพันธ์ระหว่างมวล ความหนาแน่น และปริมาตรวัตถุ จนต้องร้อง “ยูเรก้า!!” ออกมาพร้อมกับวิ่งเปลือยกายไปรอบเมือง

หลักเศรษฐศาสตร์ที่ผมค้นพบเป็นเพียงความเข้าใจพฤติกรรมในเศรษฐกิจ เมื่อผมได้เรียนเศรษฐศาสตร์สมัยอยู่ม.ปลาย ผมได้รู้ว่ามีคนคิดสิ่งเดียวกับผมได้ก่อนผมมาเกือบ 100 ปีแล้ว – แถมยังมีระเบียบทางความคิดที่ชัดเจนและมีหลักการกว่าของผมเสียด้วย นี่คงเป็นจุดเริ่มของการเดินของผมเข้าสู่ชุมชนวิชาการของนักเศรษฐศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์

ที่ธรรมศาสตร์ผมได้เรียนกับอาจารย์เก่งๆหลายท่าน สี่ปีที่ผ่านมาผมรู้จักเศรษฐศาสตร์มากขึ้น เข้าใจตรรกะของมันได้ดีขึ้น และรู้สึกว่าเศรษฐศาสตร์มีพลังมากพอที่สามารถใช้เป็นหลักเพื่อไปทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ ผมพร้อมที่จะนำกรอบความคิดแบบเศรษฐศาสตร์ที่ผมได้มาไปประยุกต์กับกรอบความคิดอื่นๆเพื่อทำความเข้าใจและวิเคราะห์สังคมมนุษย์ที่แสนซับซ้อนแล้ว
เมื่อบ่ายวันอาทิตย์นั้นผมทิ้งท้ายบอกกับเด็กๆเหล่านั้นไว้ว่า

“...ตลอดเวลา 4 ปีที่ผมเรียนที่ธรรมศาสตร์ ผมไม่เคยเสียใจกับการที่ผมได้รู้จักเศรษฐศาสตร์เลย ผมสนุกกับการที่ได้เข้าใจโลกผ่านมุมมองแบบเศรษฐศาสตร์และผมคิดว่าเศรษฐศาสตร์ได้เปิดมุมมองและขยายขอบฟ้าของผมให้กว้างยิ่งขึ้น...”

ตอนนี้ผมมั่นใจแล้วว่าผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ (อย่างน้อยก็ตามนิยามของผม) และผมจะรู้สึกภูมิใจมากที่มีคนเรียกผมว่าอย่างนั้น

หมายเหตุจากผู้เขียน

ผู้เขียนขอขอบคุณ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย และ อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ที่ได้ช่วยเปิดมุมมองของผุ้เขียนไม่ให้จมปลักอยู่แค่“เศรษฐศาสตร์” เพียงอย่างเดียวและทำให้ผู้เขียนตระหนักว่าความรู้เศรษฐศาสตร์หรือวิชาแขนงใดๆเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจโลกนี้ได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังสอนว่า “นักเศรษฐศาสตร์ที่ดี” ควรเป็นเช่นไร สำหรับรุ่นน้องอีกสองคนที่ผู้เขียนกล่าวถึงในบทสนทนากับเด็กม.ปลายคือ ชล บุนนาค และ “บัง” ทั้งสองเป็นนักศึกษาและนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามลำดับ

20 October 2005

Ig Nobel 2005


สำหรับนักวิชาการสายการแพทย์ เคมี ฟิสิกส์ และเศรษศาสตร์ คงเกียรติยศใดยิ่งใหญ่สูงเกินกว่าการได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) โดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ล้วนเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ หรือนักประพันธุ์ระดับอัจฉริยะ ผู้อุทิศชีวิตเพื่อการศึกษาหรือวิจัย เพื่อต่อยอดและรังสรรค์ความรู้ใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติ

สำหรับผู้คนทั่วไปแล้ว ผลงานหรืองานวิจัยเหล่านั้นส่วนมากเรื่อง “ไกล” และ “ยาก” เกินที่จะทำความเข้าใจ หรือแทบมองไม่เห็นว่ามีความเกี่ยวโดยตรงกับชีวิตของพวกเขาอย่างไร

นักวิชาการไม่ว่าสัญชาติไหนหรือจากประเทศใดล้วนมีภาพลักษณ์ที่ปรากฎต่อชาวโลกใกล้เคียงกันก็คือ วันๆ ขลุกแต่งานวิจัยที่แสนน่าเบื่อและขาดสีสัน

ราวต้นเดือนตุลาคมในแต่ละปี นิตยสาร Science Humour Magazine ร่วมกับ Harvard Computer Society, Harvard-Radcliff Science-Friction Association และ Harvard-Ridcliff Society of Physics Students จัดพิธีมอบรางวัล (อิ๊ก โบเบล) Ig Nobel ที่ Sanders Theatre ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบล (แท้) ของปีนั้น

รางวัล “อิ๊ก โนเบล” คือรางวัลที่มอบให้แก่ “ผู้ไดก็ได้” ที่มีผลงาน หรือรังสรรค์สิ่งต่างๆ ที่ดูเป็นเรื่องขำๆ แต่ในความขบขันนั้นมีความหมายหรือสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เราขบคิดกันต่อได้ ดังที่เกณฐ์การมอบรางวัลมีระบุไว้ว่า “Every Ig Noble Prize winner has done something that first makes people LAUGH, then makes them THINK”

รางวัล “อิ๊ก โนเบล” มีการแบ่งรางวัลเยืนพื้น 5 สาขาตามรางวัลโนเบล (แท้) ได้แก่ สาขาการแพทย์ สาขาฟิสิกส์ สาขาเคมี สาขาเศรษฐศาสตร์ สาขาวรรณกรรม และสาขาสันติภาพ แต่อาจมีการเพิ่มในสาขาอื่นๆ ตามแต่คณะกรรมการรางวัลจะเห็นควร

สำหรับปี 2005 มีผู้ได้รับรางวัล “อิ๊ก โนเบล” จำนวนมากมาย จากผลงานขำๆ มากมาย อาทิเช่น

Gauri Nanda จากสถาบัน MIT ได้รับรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ จากผลงานการประดิษฐ์นาฬิกาปลุก ที่สามารถซ่อนตัวเองได้ในห้องนอน ซึ่งทำให้เจ้าของต้องลุกจากเตียง (เพื่อหาว่านาฬิกาหลบอยู่ไหน) ดังนั้นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้จึงสามารถเพิ่ม Productive work hour ให้แก่มนุษย์ขี้เซาจำนวนมาก

Edward Cussler และ Brian Gettelfinger จากมหาวิทยาลัยมินิโซตา และมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้ทำการทดลองเพื่อตอบคำถามมนุษย์สามารถว่ายน้ำในน้ำเชื่อมได้เร็วกว่าในน้ำปกติหรือไม่ ผลงานชิ้นที่ทำให้พวกเขาจึงได้รับรางวัลสาขาเคมี

Dr. Yoshiro Nakamatsu รับรางวัลสาขาโภชนาการ จากความเพียรพยายามเก็บภาพถ่าย และวิเคราะห์อาหารของเขาแต่ละมื้อตลอดเวลา 34 ปี

ในบางครั้ง รางวัลนี้อาจมอบให้แก่บุคคลเพื่อประชดกับผลงานแย่ๆ ที่ปรากฏสู่สาธารณชน เช่น

รางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2002 มอบให้แก่ผู้บริหารบริษัทชื่อดัง เช่น Enron, WorldCom และ Arthur Anderson สำหรับความสามารถในการใช้หลักจำนวนจินตนภาพ (imaginary number) เข้ากับธุรกิจ

บริษัท Coca-Cola ประเทศอังกฤษ ได้รางวัลสาขาเคมีประจำปี 2004 ที่แปลงน้ำประปาธรรมดาให้กลายเป็นน้ำแร่ธรรมชาติได้!!

แน่นอน...ผู้คนเหล่านั้นคงไม่ดีใจกับรางวัลนี้แน่!!

รายละเอียดรางวัลอื่นๆ ของปีนี้และปีอื่นๆ สามารถดูได้ที่ http://www.improb.com/ig/ig-pastwinners.html

อาจจะใช่! รางวัลนี้คงตั้งมาเพื่องอนรางวัลโนเบล (แท้) ด้วยข้อหาว่าไม่สนใจผลงานตลกๆ เหล่านั้น (สังเกตได้จากชื่อ Ignore + Nobel = Ig Nobel) แต่ผมเชื่อว่าสิ่งนี้ไม่เป็นสาระสำคัญเท่ากับการให้ความสำคัญ กับความคิด และการตั้งคำถามกับทุกสิ่งรอบตัว อาจเป็นคำถามหรือความคิดแปลกๆ หรือแผลงๆ ที่อาจดูไร้สาระจากผิวเผิน – ซึ่งไม่แน่! อาจมีความลับแสนยิ่งใหญ่หลบซ่อนอยู่ภายใต้ความขบขันเหล่านั้นก็เป็นได้

เคยมีนักฟิสิกส์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล (แท้) ท่านหนึ่งกล่าวว่า รางวัล “อิ๊ก โนเบล” ช่วยทำให้ภาพลักษณ์นักวิทยาศาสตร์ (และนักวิชาการ) ดูเป็นมนุษย์มากขึ้น ผมเองก็ชูมือเห็นด้วยกับความคิดนั้น เพราะการเผยแพร่รางวัลนี้ทำให้วงการวิทยาศาสตร์และวิชาการอยู่ใกล้ชิดผู้คนมากขึ้น และช่วยกระตุ้นให้หลายคนรู้จักคิด สังเกต และตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่เราอาจมองข้าม เพียงเพราะเรานึกว่ามันไม่มีความสำคัญ ดังที่ Albert Einstein ผู้เป็นรูปธรรมของคำว่า “ยอดอัจฉริยะ” ที่กล่าวอมตะวาจาว่า

“ความรู้ไม่ได้สำคัญเท่าความคิด”

03 October 2005

เลี้ยงหมาเลี้ยงแมว

วันนี้ไปที่มูลนิธิเลี้ยงสุนัขพิการที่ปากเกร็ดเพื่อนำสิ่งของจากบริษัทไปบริจาค

ไม่น่าเชื่อเลยว่าในพื้นที่อานาเขตประมาณหนึ่งไร่ เป็นที่อยู่อาศัยของสุนัขพิการที่ถูกทอดทิ้งส่วนมากได้รับอุบัติเหตุ (รถชนเสียส่วนใหญ่) โดน (คน) ทำร้าย หรือ ป่วยหนัก

คุยกับเจ้าหน้าที่ได้ความว่ามูลนิธินี้ดูแลสุนัขบาดเจ็บและพิการกว่าพันชีวิต และแมวที่ถูกทอดทิ้งอีกนับร้อย

รู้สึกสงสารและเศร้าใจกับภาพและบรรยากาศที่ปรากฎต่อหน้า ขณะเดียวกันก็นับถือและชื่นชมเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครที่ทำงานให้กับมูลนิธิเล็กๆ แห่งนี้

อยู่ที่นี่ได้ต้องใจรักจริง และเป็นผู้เสียสละชีวิตส่วนตัวมากๆ

ได้ฟังคำพูดดีๆ จากปากเจ้าหน้าที่มูลนิธิเมื่อมีเวลานั่งคุยกับเขา

เขาบอกว่ามนุษย์กับสัตว์มีความแตกต่างกันที่มนุษย์พัฒนาระบบความคิดที่ซับซ้อนและลึกซึ้งเพื่อการดำรงชีวิต ขณะที่สัตว์มีเพียง “สัญชาติญาณการเอาตัวรอด” ล้วนๆ

ในบางครั้งเมื่อมนุษย์ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์โหดร้ายสุดขีด เช่นบาดเจ็บส่วน ป่วยหนัก หรือโดนบีบคั้นทางจิตใจอย่างรุนแรง เรามักได้ยินคำพูดเชิง “ตายดีกว่า” หรือ “ตายไปเสียดีกว่าอยู่” บ้างซึ่งบางครั้งผลลัพธ์จากความคิดนำพาซึ่งการจบชีวิตด้วยน้ำมือตนเอง

“...แต่เราไม่เคยเห็นสัตว์ค่าตัวตาย ต่อให้เขาเจ็บแค่ไหนเขาก็จะดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยสัญชาติญาณของเขาจนกว่าเขาจะหมดลม...” เขาพูด เป็นถ้อยคำที่เรียบง่ายแต่ทำให้รู้สึกเหมือนกลืนขนมปังชิ้นโตลงคอโดยยังไม่เคี้ยว

วันนี้กลับบ้านด้วยความรู้สึกหดหู่เล็กๆ แต่อีกด้านหนึ่งก็ดีใจที่ได้ไปเยี่ยมสถานที่แห่งนี้เพราะทำให้รู้จักมุมมองดีๆ เกี่ยวกับการมีอยู่ของชีวิต

24 September 2005

"Another part of me"



หมายเหตุก่อนเขียน

จริงๆ แล้ว ความมั่นใจของผมกับการเขียนบทความชิ้นนี้มีไม่สูงนักเมื่อเทียบกับข้อความอื่นๆ ที่เคยเขียนก่อนหน้านี้ เหตุผลก็คือ – ผมไม่เคยมีและจะไม่มีวันมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องราวที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ สิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุดก็คือการเรียบเรียงความคิดและจินตนาการณ์จากสมองของผมเกี่ยวกับสิ่งที่ผมได้รับรู้มาเป็นตัวอักษร ดังนั้นผมจึงไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกหรืออารมณ์ได้ทัดเทียมกับผู้มี “ตัวตนที่สอง” อย่างแท้จริง

-----------------------------------

“Another part of me”

คงรู้สึกแปลก หรืองงๆ หากวันหนึ่งผมตื่นนอนแล้วพบว่าตัวเองตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกคล้ายกับอยู่โลกกระจก

หากแต่ในโลกกระจกใบนี้ ผมเห็นตัวผมเอง (ตัวผมอีกคนหนึ่งที่มีใบหน้า รูปร่าง บุคลิค ท่าทางคล้ายคลึงกันอย่างมาก) แต่สิ่งที่ดูเหมือนกับเงา (ตัวตนที่สองของผม) ในกระจกบานนี้ไม่เหมือนกับ “เงา” ที่ผมเห็นในกระจกในห้องน้ำ ตัวตนที่สองของผมมีอิสระมีความคิดไร้พันธะจากชีวิตของผม เช่นกันตัวผมก็แยกจากตัวเขา แตกต่างจาก “เงา” ทีผมเห็นในโลกคู่ขนานในห้องน้ำอย่างสิ้นเชิง

ใช่! ผมกำลังจินตนาการว่าหากวันใด ผมเกิดบังเอิญผมรู้ว่าผมมีฝาแฝดผู้พี่/ผู้น้อง อีกคนหนึ่ง และได้พบตัวเขาเป็นๆ

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมานั่งดูสารคดีของ BBC ที่ฉายทางช่อง UBC X-Zyte เป็นของกับการทดลองของกลุ่มแพทย์และนักจิตวิทยาชาวอังกฤษและอเมริกัน พวกเขาทำการทดลองเพื่อค้นหาคำตอบว่าพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม (รวมถึงการเลี้ยงดูในวัยเด็ก) มีผลต่อพฤติกรรม ความรู้สึก และรสนิยม ของฝาแฝดหรือไม่

การทดลองขั้นแรกเริ่มจากเชิญอาสาสมัคร “ฝาแฝดแท้” (เกิดจากไข่ใบเดียวกันและมี DNA เหมือนกัน) มาทดสอบเพื่อค้นหาฝาแฝดที่ “เหมือนกัน” ที่สุด เช่นใช้วัดความเหมือนของหน้าตา น้ำเสียง ลักษณะการพูด ปฎิกริยาตอบสนองทางประสาทสายตา การรับรู้รส และผิวหนัง และรวมถึงการดูลายนิ้วมือของแต่ละคนด้วย

การทดลองนี้มีเพื่อค้นหาฝาแฝดคู่ที่มีความเหมือนกันมากที่สุด 4 คู่ (ชาย 2 หญิง 2) เพื่อนำไปทดลองในการทดสอบขั้นที่สองและสาม

การทดลองขั้นที่สองเป็นการทดสอบทางรสนิยมและความรู้สึกของแฝดทั้งสี่คู่เช่น รสนิยมต่อเพศตรงข้าม การเลือกอาหารในภัตตาคาร การเลือกซื้อเสื้อผ้าในห้างสรรพสินค้า การแสดงอารมณ์ของแต่ละคนต่อสถาณการณ์ขบขัน/ตื่นเต้น/สยดสยอง

สิ่งที่เป็นเรื่องน่าแปลกใจและเป็นความรู้ใหม่แก่ผมเป็นอย่างมากก็คือ สถานการณ์เกือบทั้งหมดจากทดลองบ่งชีว่าฝาแฝดทั้งสี่มีรสนิยมและความรู้สึกคล้ายคลึงกันเป็นอย่างยิ่ง

การทดลองเรื่องรสนิยมต่อเพศตรงข้าม ฝาแฝดแต่ละคู่ถูกแยกไปในผับคนละแห่ง โดยผู้ทดลองนำฝาแฝดเพศตรงข้าม 6 คู่ เข้าไปทำความรู้จักแยกกันทีละคน โดยแฝดที่ถูกทดลองไม่รับรู้เลยว่าเพศตรงข้ามที่ตนเองกำลังทำความรู้จักอยู่นั้นก็มีฝาแฝดอยู่ด้วย ซึ่งขณะเดียวกันฝาแฝดของเขาก็กำลังคุยกับคนที่มีหน้าตาเดียวกับคนที่อยู่ต่อหน้าเขา ณ เวลานั้น ซึ่งผลลัพธ์เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากที่ฝาแฝดที่ถูกทดลองทั้งสีมีความรู้สึกพึงพอใจกับแฝดคู่เดียวกันทั้งสี่คู่

ฝาแฝดทั้งสี่คู่ถูกแยกให้แต่ละคนไปภัตตาคารคนละแห่งที่อยู่ในเครือเดียวกันและมีเมนูแบบเดียวกันในเวลาพร้อมกัน ฝาแฝดทั้งสี่กลับเลือกอาหารที่ตัวเองอยากกินอย่างเดียวกันซึ่งสรุปได้ชัดเจนว่าฝาแฝดมีรสนิยมอาหารที่เหมือนกัน

เช่นกัน เมือฝาแฝดถูกแยกนำไปเลือกซื้อเสื้อผ้าในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ผลที่ออกมาก็คือฝาแฝดทุกคู่ต่างเลือกเสื้อผ้าในแบบ สี และไสตล์ ที่คล้ายกันเป็นอย่างยิ่ง

ในการทดลองด้านการแสดงอารมณ์ขบขัน/ตื่นเต้น/สยดสยอง ที่ฝาแฝดถูกนำไปเล่นเครื่องเล่นหวาดเสียวในสวนสนุกและให้ชมภาพยนตร์ต่างๆ ซึ่งผลสรุปก็เป็นในทิศทางเดียวกับการทดลองแรกๆ

ผลสรุปในการทดลองส่วนที่สองนี้อาจสรุปได้ว่า พันธุกรรมมีอิทธิผลต่อความรู้สึกและรสนิยมมากกว่าสิ่งแวดล้อมที่ฝาแฝดแต่ละคู่เผชิญอยู่

สิ่งที่น่าแปลกใจอย่างหนึ่งก็คือ มีการทดลองเรื่องความเหมือนของกลิ่นกายของฝาแฝด โดยฝาแฝดถูกขอให้รับทานอาหารแบบเดียวกันเป็นเวลา 3 วันติดกันและในวันทดลองให้นำเสื้อที่ตัวเองใส่นอนมาให้สุนัขตำรวจมาค้นหาว่าใครเป็นเจ้าของเสื้อตัวไหน

ผลสรุปกลับเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ แต่ก่อนเรามันเชื่อว่าพันธุกรรมมีผลต่อกลิ่นกาย ดังนั้นฝาแฝดแท้จึงควรมีกลิ่นกายทีเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่าสุนัขตำรวจกลับแยกกลิ่นของแฝดได้อย่างถูกต้องทั้งสี่คู่ เป็นการทำลายข้อสมมติฐานที่นักวิทยาศาสตร์เคยมีอย่างสิ้นเชิง

การทดลองส่วนสุดท้ายคือการทดสอบว่าฝาแฝดคนหนึ่งสามารถ “ปลอมตัว” หลอกคนใกล้ชิดได้นานแค่ไหน

สำหรับการทดลองนี้จะมีการเตี้ยมกันเช่นว่า ฝาแฝดคนพี่พาคุณแม่ไปซื้อของ ระหว่างชอปปิ้งในร้านเสื้อผ้าก็สับตัวกับแฝดคนน้องที่ซ่อนตัวอยู่ในห้องเปลี่ยนเสื้อ และทำหน้าที่ทดแทนคนพี่เพื่อดูว่าจะสามารถหลอกแม่ได้นานเท่าไร

อีกคู่หนึ่งเป็นการหลอกลูกของอีกคนหนึ่ง ขณะที่อีกคู่เป็นการหลอกแฟน และอีกคู่เป็นการหลอกกลุ่มเพื่อนที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเด็ก

ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นดังคาด ถึงแม้ว่ามีการเตี้ยม หรือตกแต่งหน้าตา ใส่เครื่องประดับให้เหมือนกันเป็นอย่างไร ไม่มีแฝดคู่ไหนหลอกสมาชิกในครอบครัวของตนได้เลย เว้นเสียแต่กลุ่มเพื่อนที่อาจหลอกได้นานหน่อยเท่านั้น

แม้ว่าการทดลองทำในเชิงคุณภาพ (Qualitative experiment) ผลสรุปก็ช่วยเพิ่มความกระจ่างกับข้อถกเถียงในวงการวิชาการจิตวิทยาในประเด็นที่ว่าระหว่างสิ่งแวดล้อมหรือพันธุกรรม สิ่งใดแสดงผลต่อพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดต่อระดับปัจเจกบุคคลมากกว่ากัน ซึ่งแนวคิดส่วนใหญ่ได้อิทธิพลจากกลุ่มผู้เชื่อว่าสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญกว่า

ผมรู้จักเพื่อนฝาแฝดจริงๆ แค่ 2 คู่และก็เป็นการรู้จักเพียงผิวเผิน ดังนั้นผมจึงไม่เคยรู้จากปากฝาแฝดว่า จริงๆ แล้วการมีตัวตนที่สองเป็นเรื่องสนุกอย่างที่เคยนึกสนุกเมื่อยังเด็ก (เช่นแต่งตัวเหมือนกัน หรือแกล้งหลอกคน) หรือไม่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามผมก็ไม่คิดว่าผมอยากมีฝาแฝดเลยแม้แต่น้อย เพราะคงรู้สึกแปลกๆ เหมือนกับที่เกริ่นไว้บนหัวบทความ

แต่หากผมเกิดมีฝาแฝดจริง ผมก็คงต้องเปลี่ยนชื่อ Blog เป็น Dawdle Men เพื่อให้ถูกหลักไวยกรณ์อังกฤษ!!