Dawdle Man

27 August 2005

Vincent


“I cannot help it if my paintings do not sell. But the time will come when people realise that they are worth more than the cost of the paint.” - Vincent van Gogh

ว่ากันว่าหากเปรียบเทียบกันตัวต่อตัว ผลงานต่อผลงาน ฝีแปรงต่อฝีแปรงแล้ว ไม่มีใครตอบได้ว่าระหว่าง วินเซนท์ แวน โกะห์ (Vincent van Gogh) จิตรกรชาวดัตช์ และ พาโปล ปิกาสโซ (Pablo Picasso) ศิลปินชาวเสปน ผู้ใดมีความสามารถเหนือกว่ากัน แต่สิ่งเดียวที่แตกต่างกันระหว่างอัจฉริยะทั้งสองนี้คือ ปิกาสโซ เป็นพยานรู้เห็นความสำเร็จของตัวเขาแต่ขณะที่กว่าที่ทั้งโลกจะยกย่องฝีมือของ แวน โกะห์ เขาก็ฆ่าตัวตายแล้วหลายปี

ชีวิตของ แวน โกะห์ เป็นต้นแบบที่ดีที่สุด (role model) ของการใช้ชีวิตแบบ “จิตรกรไส้แห้ง” ที่มีสุรา และหนี้สินเป็นเครื่องชูโรงของชีวิต และหากพิจจารณาเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้าในชีวิตของเขา ทั้งอกหัก โดนทิ้ง ความรักที่ถูกกีดกัน จิตที่ฟุ้งซ่านจนถูกส่งเข้าบำบัดทางจิต ตัดใบหู ก่อนสิ้นสุดชีวิตด้วยลูกปืน คงเป็นเรื่องเหมาะสมและไม่ผิดมารยาทนักหาก แวน โกะห์ สภาปนาตนเองขึ้นเป็น “พระราชาเรื่องเศร้า ที่หนึ่ง” ของมวลหมู่ศิลปินภาพเขียนทั้งหลาย

แวน โกะห์ เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 1853/2396 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่เสียชีวิตที่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 1890/2433 เมื่ออายุได้ 37 ปี เขาผลิตผลงานทั้งภาพระบายสี ภาพวาด ภาพพิมพ์ ภาพร่าง ฯลฯ รวมกว่า 3,000 ชิ้น นับว่ามหาศาลหากเปรียบเทียบกับเวลาเพียง 9 ปีที่เขาโลดแล่นในวงการศิลปะ

สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือขณะที่ศิลปินผู้นี้มีชีวิตอยู่เขาไม่เคยขายภาพเขียนของเขาได้เลย ผลงานของเขาถูกมองว่าเป็น “ขยะ” ของวงการศิลปะ แต่ไม่กี่สิบปีหลังจากเขาตาย ภาพเขียนของเขาถูกประมูลในสถานประมูลวัตถุมีค่าชั้นนำด้วยมูลค่ามหาศาลเพียงพอที่จะซื้อเครื่องบินโดยสารขนาดยักษ์ได้หนึ่งลำ ผลงานทั้งหลายของเขาถูกตั้งแสดงในหอศิลปะทั่วโลก หลายชิ้นอยู่ภายใต้ความครอบครองของอภิมหาเศรษฐี งานเขาเป็นแรงบัลดาลใจให้แก่ศิลปินยุคหลัง ซึ่งรวมถึง ปิกาสโซ ด้วย

ว่ากันว่าข้างหลังภาพนั้นมีความหมาย และเรื่องราวที่ถูกเรียงร้อยอยู่ในกาลเวลา ชีวิตของ แวน โกะห์ ก็ถูกเล่าเรื่องผ่านภาพวาดเหล่านั้นเช่นกัน ที่มาและที่ไปของผลงานส่วนใหญ่ของแวนโกะห์ถูกบันทึกในจดหมายโต้ตอบกันระหว่างเขากับ ธีโอ แวนโกะห์ (Theo van Gogh) น้องชายผู้เป็นผู้อุปถัมภ์ทางการเงิน (financial benefactor) หลายร้อยฉบับ หากนำจดหมายทั้งหมดมาร้อยเรียงต่อกันอาจได้บทละคอน หรือนิยายเรื่องเศร้าชั้นดีเรื่องหนึ่งทีเดียว

แวน โกะห์ เป็นศิลปินที่ผมนิยมผลงานที่สุด เป็นรสนิยมส่วนตัวที่ขาดตรรกเข้มแข็งรองรับ ผลงานชิ้นแรกที่ทำให้ผมรู้จักศิลปินผู้นี้ถูกกล่าวขานว่าเป็น Master Piece ของเขามีชื่อว่า The Starry Night ซึ่ง Don McLean แต่งเพลงชื่อ Vincent โดยได้รับแรงบัลดาลใจจากภาพวาดผลงานชิ้นโบว์แดงและประวัติชีวิตแสนเศร้าของผู้เขียนภาพนั้น

สำหรับผมแล้ว แวน โกะห์ เป็นหนึ่งในผู้ใช้ชีวิตแบบ “คนจริง” ผู้เชื่อมั่นในแนวทางของตน และไม่ก้มหัวให้กับแรงกดดันมหาศาลที่โหมกระหน่ำเข้าชีวิตของเขา ดังที่เขาเคยเขียนในจดหมายถึง ธีโอ ว่า

“I am risking my life in my work, and half reason has gone.”

14 August 2005

ปิศาจสงคราม Retro

วันที่ 16 สิงหาคม 1945/2488 เป็นวันสิ้นสุด สงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการ ถ้าพูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น วันนี้คือเป็นวันที่องค์จักรพรรดิ์ประกาศยอมแพ้ต่อสัมพันธมิตร (เป็นคำประกาศที่มีความหมายแยบยลมากเพราะแทนที่จะใช้คำว่า “ยอมแพ้” แต่กลับใช้คำว่า “ทุกสิ่งไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ”) ดังนั้นสงครามแปซิกฟิกจึงสิ้นสุดลงหลังกองทัพแดงยึดกรุงเบอร์ลินเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมในปีเดียวกัน

สำหรับประเทศไทย วันที่ 16 สิงหาคม คือ “วันอิสรภาพ” ที่หน่วยเสรีไทยขึ้นมาจากใต้ดินปลดอาวุธและ “ปลดแอก” รัฐบาลไทยจากความฝันวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา ซึ่งทำให้ไทย “รอดพ้น” จากการเป็นประเทศผู้แพ้สงราม (แต่กลับต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่ประเทศพันธมิตร!?) ท่ามกลางความรู้สึกงงๆ ของญี่ปุ่นมิตรประเทศผู้กลายเป็น “อดีต” อย่างรวดเร็ว

ความทรงจำของผมกับเรื่องราวสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นที่ห้องสมุดในโรงเรียน “รั้วแดง-ขาว” เป็นปีที่ผมเพิ่งมีอายุขึ้นสองหลัก นักเรียนทุกคนจะมี “วิชาห้องสมุด” หนึ่งครั้งในแต่ละสัปดาห์ เป็นชั่วเวลาราวหนึ่งชั่วโมงที่นักเรียนมีโอกาสพักผ่อนอ่านหนังสือในห้องสมุด

เพื่อนผมคนหนึ่งหยิบหนังสือเก่าชื่อ “อัศวินเวหา” แบ่งให้ผมอ่านด้วยกัน นี่คือครั้งแรกที่ผมได้อ่านประวัติทหารอากาศผู้มีชื่อเสียงนับตั้งแต่มีผู้ใช้เครื่องบินเป็นส่วนหนึ่งเครื่องจักรสงครามจนถึงยุคที่เวียดนามเหนือและใต้รวมกันเป็นหนึ่ง

เป็นเรื่องไม่แปลกที่ผมและเพื่อนคนนั้นรดจำเหล่าอัศวินเวหา ในฐานะ Hero คนแรกๆ เท่าที่ยังหลงเหลืออยู่ความทรงจำก็คือ David McCampbell นอกเหนือจาก ชาวดาว M-78 หรือมนุษย์ค้างคาว จากวันนั้นเราทั้งสองเริ่มมีความสนใจประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง จากยุทธเวหาเหนือเกาะอังกฤษ ถึงยุทธนาวีที่ทะเลฟิลิปินส์ และการประจัญบาณของรถถังที่แอฟริกาเหนือ

เราเริ่มขยายพรหมแดนความสนใจจากเรื่องราวและเนื้อหาของสงคราม สู่ความรู้เกี่ยวกับเครื่องจักรสงคราม เราสะสมความรู้เกี่ยวกับรถถัง เรือประจัญบาณ ฐานบินลอยน้ำ และสิ่งที่เรามีความถนัดมากที่สุดคือเหล่าฝูงบินใบพัด – พาหนะที่สร้างชื่อเสียงให้กับเหล่า Hero ตัวเป็นๆ ของพวกเรา ซึ่งการที่เคยมีฝันเป็นวิศวกรสร้างเครื่องบินคงเป็นสาเหตุหลักทำให้ผมสนใจศึกษาข้อมูลเครื่องบินรบแต่ละรุ่นเป็นพิเศษ

สงครามอ่าวเปอร์เซียยกแรก (ในปี 1991/2534) เริ่มหันเหความสนใจของเรา จากอาวุธ “คลาสสิค” มาสู่อาวุธทันสมัย และยิ่งขยายเขตความรู้ของเรากว้างไปยิ่งขึ้น เริ่มรู้จักเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์เจ็ท นอกเหนือเครื่องบินใบพัด และตระหนักถึงสมรรถนะอันเทียบกันไม่ได้ระหว่างจรวดกับลูกปืนกลแบบเก่า

เป็นเรื่องไม่แปลกที่เด็กในวัยของเรา (ขณะนั้น) สามารถหลงใหลกับเรื่องราว หรือความรู้ต่างๆ อย่างครั่งไคร้ ถึงกับหายใจเข้า-ออก เป็นเรื่องนั้น เป็นสิ่งนั้น เพราะพวกเรา “มีเวลา” มากมายเหลือเฟือ และไม่ต้องเปลืองสมองไปกับ “สิ่งที่ต้องรับผิดชอบ” ให้มากมายเหมือนกับปัจจุบันนี้ แต่สำหรับผมสิ่งที่เข้า-ออก ลมหายใจของผมกลับมีรูปพรรณที่ใหญ่โต และหนักอึ้ง บางชิ้นมีประสิทธิภาพทำลายตึกใหญ่ๆ ได้ด้วยการซัลโวกระสุนเพียงนัดเดียว ซึ่งความลุ่มหลงในอาวุธสงครามของผมทำให้เพื่อนสนิทผมมอบ “ปิศาจสงคราม” เป็นตำแหน่งห้อยท้ายต่อชื่อผม แต่ขณะที่ใจผมกลับแปลความหมายของตำแหน่งนี้ว่า “ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาวุธหนัก” เพื่อภาพความโหดร้ายของตำแหน่งที่ผมได้รับเกียรตินั้น

การสิ้นสุดของสงครามเย็นเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ทำให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สงครามและอาวุธสงคราม ยังพอใช้ได้กับยุคปัจจุบันนี้เพราะเมื่อความกังวลเกี่ยวกับสงครามนิวเคลียร์หายไป งบลงทุนและพัฒนาอาวุธในหลายประเทศก็ลดลงด้วย ดังนั้นอาวุธสงครามชิ้นใหม่ๆ จึงไม่ค่อยปรากฏโฉมอย่างมากมายเหมือนกับแต่ก่อน

ปัจจุบันนี้ ผมคงไม่ได้เป็น “ปิศาจสงคราม” เหมือนกับที่เคยเป็นในอดีตเพราะว่าความสนใจของสมองถูกแบ่งไปกับเรื่องราวต่างๆ ที่ผมได้เรียนรู้เมื่อเติบโตขึ้น มันมากมายเสียจนแทบไม่เหลือพื้นที่ของอาวุธหนักและประวัติศาสตร์สงครามให้จับจองในหัวสมอง เพราะเมื่อเวลาผ่านพ้นไปนานขึ้นพร้อมกับความรับผิดชอบมากขึ้นตามวัย พร้อมกับการเปิดโลกเรียนรู้และรับรู้สิ่งแปลกใหม่มากขึ้น เริ่มทำให้ผมห่างไกลจากสารบบเกี่ยวกับอาวุธสงครามและหนังสือประวัติศาสตร์สงครามโลกมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นกาลเวลาที่ไหลผ่านไป แทบไม่สามารถละลายความทรงจำ ของผมกับความรู้ที่ผมสะสมมาตั้งแต่ยังใช้คำว่า “เด็กชาย” นำหน้าชื่อและเมื่อใดที่ผมได้ดูรายการสารคดีประวัติศาสตร์ หรืออาวุธสงคราม ผมก็รู้สึกดีเสมอที่ได้กลับไปวิ่งเล่นในความทรงจำเก่าๆ นั้น

05 August 2005

จาก New York City ถึง Copenhagen



“To be born in a duck nest, in a farmyard, is of no consequence to a bird if it is hatched from a swan’s egg.”

From The ugly duckling, H.C. Andersen


คนที่เคยไปเที่ยว หรือสัมผัสวิถีชีวิตแบบ New Yorker คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก สวนสาธารณะ Central Park แน่นอน

Central Park มีขนาด 2 ตารางไมล์ ตั้งอยู่กลางเกาะ Manhattan เป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในโลก

คนที่เคยเดินเล่นใน Central Park คงรู้ว่า สวนสาธารณะแห่งนี้ สวยและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา และคับคั่งด้วยผู้คนเพียงใด

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาสเมืองหลวงของระบบทุนนิยมแห่งนี้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็มีเวลาพอที่จะเดินสำรวจสวนสาธารณะแห่งนี้

เดินตามแผนที่พบสวนเล็กๆ หลบอยู่ในมุมหนึ่งของสวนสาธารณะยักษ์แห่งนี้ รู้สึกแปลกใจที่บริเวณนี้เงียบสงบ
มีรูปปั้นของชายแต่งกายย้อนยุคขนาดเท่าคนจริง กำลังอ่านหนังสือ และมีเป็ดน้อยยืนอยู่ข้างๆ ใกล้กันนั้นเป็นสระน้ำขนาดเล็กที่พ่อแม่พาลูกๆ ของเขามานั่งพักผ่อนและอ่านหนังสือให้ฟัง ขณะที่เด็กจำนวนหนึ่งกำลังสนุกกับการเล่นเรือใบบังคับวิทยุลำน้อยของพวกเขา

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เด็กนักเรียน ชาวอเมริกันและเดนนิชร่วมบริจาคเงินค่าขนมของแต่ละคน รวมมูลค่า $72,000 สร้างรูปปั้น Hans Christian Andersen เพื่อฉลองวันเกิดครบรอบ 150 ปีของเขา และตั้งรูปปั้นไว้ที่ Central Park กลางนคร New York และตั้งชื่อบริเวณนั้นว่า Hans Christian Andersen Garden

Hans Christian Andersen เป็นทั้งกวี นักประพันธ์ และนักปรัชญา ชาวเดนนิช ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในโลก ตลอดชีวิตเขาประพันธ์ นิยายสำหรับเด็กที่มีเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เช่น The ugly duckling, The little mermaid, The emperor’s new cloth และอีกกว่า 200 เรื่องที่เป็นที่มาของคำว่า “เทพนิยายเดนมาร์ก”

ปีนี้ผมมีโอกาสเดินทางมา Copenhagen นครที่นักประพันธ์ผู้นี้เคยอาศัย และใช้เวลาส่วนใหญ่ในเมืองนี้แต่งนิยายหลายเรื่อง และปีนี้เป็นที่ฉลองครบรอบ 200 ปีของนักประพันธ์ผุ้นี้

มีโอกาสเดินในเมืองนี้ เห็นของที่ระลึก โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ร่วมฉลองให้กับนักประพันธ์ผู้นี้ เต็มเมืองไปหมด เช่นละคอนเวที การเล่านิทาน หรือแม้กระทั่งจุดสำคัญทั้ง 62 จุดใน Copenhagen ที่เกี่ยวกับชีวิตนักประพันธ์ของเขา

เสียดายที่ไม่ได้มีเวลามากเหมือนกับตอนที่ไปที่ New York เลยไม่ได้ตามรอยเท้านักประพันธ์ผู้นี้ไปทั่วเมือง ทำได้แค่ซื้อหนังสือรวมนิทานชื่อดังของเขา หนึ่งเล่มเอาไปอ่านเล่นที่เมืองไทยเท่านั้นเอง

การได้สัมผัสบรรยากาสเหล่านี้ ทำให้ผมเข้าใจว่า ชาวต่างประเทศให้คุณค่ากับผู้เป็น นักเขียน กวี หรือนักประพันธ์เป็นอย่างมาก เพราะผู้คนเหล่านั้นเป็นเสมือนผู้จุดประกายความคิดให้กับผู้คนอีกเป็นจำนวนมาก
น่าเสียดายที่ประเทศไทย เคยมีนักเขียน/กวี ที่มีความสามารถระดับ “คลาสสิค” จำนวนมาก เช่น สุนทรภู่ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ แต่พวกเรากลับแทบไม่ให้ความสำคัญเขา อย่างทีควรจะเป็น สาเหตุคงเป็นเพราะวัฒนธรรมการอ่านไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยกับชาวไทยเท่าไรนัก

แล้วเมื่อไรจะระบบการศึกษาจะได้พัฒนาเสียที?