Dawdle Man

20 October 2005

Ig Nobel 2005


สำหรับนักวิชาการสายการแพทย์ เคมี ฟิสิกส์ และเศรษศาสตร์ คงเกียรติยศใดยิ่งใหญ่สูงเกินกว่าการได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) โดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ล้วนเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ หรือนักประพันธุ์ระดับอัจฉริยะ ผู้อุทิศชีวิตเพื่อการศึกษาหรือวิจัย เพื่อต่อยอดและรังสรรค์ความรู้ใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติ

สำหรับผู้คนทั่วไปแล้ว ผลงานหรืองานวิจัยเหล่านั้นส่วนมากเรื่อง “ไกล” และ “ยาก” เกินที่จะทำความเข้าใจ หรือแทบมองไม่เห็นว่ามีความเกี่ยวโดยตรงกับชีวิตของพวกเขาอย่างไร

นักวิชาการไม่ว่าสัญชาติไหนหรือจากประเทศใดล้วนมีภาพลักษณ์ที่ปรากฎต่อชาวโลกใกล้เคียงกันก็คือ วันๆ ขลุกแต่งานวิจัยที่แสนน่าเบื่อและขาดสีสัน

ราวต้นเดือนตุลาคมในแต่ละปี นิตยสาร Science Humour Magazine ร่วมกับ Harvard Computer Society, Harvard-Radcliff Science-Friction Association และ Harvard-Ridcliff Society of Physics Students จัดพิธีมอบรางวัล (อิ๊ก โบเบล) Ig Nobel ที่ Sanders Theatre ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบล (แท้) ของปีนั้น

รางวัล “อิ๊ก โนเบล” คือรางวัลที่มอบให้แก่ “ผู้ไดก็ได้” ที่มีผลงาน หรือรังสรรค์สิ่งต่างๆ ที่ดูเป็นเรื่องขำๆ แต่ในความขบขันนั้นมีความหมายหรือสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เราขบคิดกันต่อได้ ดังที่เกณฐ์การมอบรางวัลมีระบุไว้ว่า “Every Ig Noble Prize winner has done something that first makes people LAUGH, then makes them THINK”

รางวัล “อิ๊ก โนเบล” มีการแบ่งรางวัลเยืนพื้น 5 สาขาตามรางวัลโนเบล (แท้) ได้แก่ สาขาการแพทย์ สาขาฟิสิกส์ สาขาเคมี สาขาเศรษฐศาสตร์ สาขาวรรณกรรม และสาขาสันติภาพ แต่อาจมีการเพิ่มในสาขาอื่นๆ ตามแต่คณะกรรมการรางวัลจะเห็นควร

สำหรับปี 2005 มีผู้ได้รับรางวัล “อิ๊ก โนเบล” จำนวนมากมาย จากผลงานขำๆ มากมาย อาทิเช่น

Gauri Nanda จากสถาบัน MIT ได้รับรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ จากผลงานการประดิษฐ์นาฬิกาปลุก ที่สามารถซ่อนตัวเองได้ในห้องนอน ซึ่งทำให้เจ้าของต้องลุกจากเตียง (เพื่อหาว่านาฬิกาหลบอยู่ไหน) ดังนั้นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้จึงสามารถเพิ่ม Productive work hour ให้แก่มนุษย์ขี้เซาจำนวนมาก

Edward Cussler และ Brian Gettelfinger จากมหาวิทยาลัยมินิโซตา และมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้ทำการทดลองเพื่อตอบคำถามมนุษย์สามารถว่ายน้ำในน้ำเชื่อมได้เร็วกว่าในน้ำปกติหรือไม่ ผลงานชิ้นที่ทำให้พวกเขาจึงได้รับรางวัลสาขาเคมี

Dr. Yoshiro Nakamatsu รับรางวัลสาขาโภชนาการ จากความเพียรพยายามเก็บภาพถ่าย และวิเคราะห์อาหารของเขาแต่ละมื้อตลอดเวลา 34 ปี

ในบางครั้ง รางวัลนี้อาจมอบให้แก่บุคคลเพื่อประชดกับผลงานแย่ๆ ที่ปรากฏสู่สาธารณชน เช่น

รางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2002 มอบให้แก่ผู้บริหารบริษัทชื่อดัง เช่น Enron, WorldCom และ Arthur Anderson สำหรับความสามารถในการใช้หลักจำนวนจินตนภาพ (imaginary number) เข้ากับธุรกิจ

บริษัท Coca-Cola ประเทศอังกฤษ ได้รางวัลสาขาเคมีประจำปี 2004 ที่แปลงน้ำประปาธรรมดาให้กลายเป็นน้ำแร่ธรรมชาติได้!!

แน่นอน...ผู้คนเหล่านั้นคงไม่ดีใจกับรางวัลนี้แน่!!

รายละเอียดรางวัลอื่นๆ ของปีนี้และปีอื่นๆ สามารถดูได้ที่ http://www.improb.com/ig/ig-pastwinners.html

อาจจะใช่! รางวัลนี้คงตั้งมาเพื่องอนรางวัลโนเบล (แท้) ด้วยข้อหาว่าไม่สนใจผลงานตลกๆ เหล่านั้น (สังเกตได้จากชื่อ Ignore + Nobel = Ig Nobel) แต่ผมเชื่อว่าสิ่งนี้ไม่เป็นสาระสำคัญเท่ากับการให้ความสำคัญ กับความคิด และการตั้งคำถามกับทุกสิ่งรอบตัว อาจเป็นคำถามหรือความคิดแปลกๆ หรือแผลงๆ ที่อาจดูไร้สาระจากผิวเผิน – ซึ่งไม่แน่! อาจมีความลับแสนยิ่งใหญ่หลบซ่อนอยู่ภายใต้ความขบขันเหล่านั้นก็เป็นได้

เคยมีนักฟิสิกส์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล (แท้) ท่านหนึ่งกล่าวว่า รางวัล “อิ๊ก โนเบล” ช่วยทำให้ภาพลักษณ์นักวิทยาศาสตร์ (และนักวิชาการ) ดูเป็นมนุษย์มากขึ้น ผมเองก็ชูมือเห็นด้วยกับความคิดนั้น เพราะการเผยแพร่รางวัลนี้ทำให้วงการวิทยาศาสตร์และวิชาการอยู่ใกล้ชิดผู้คนมากขึ้น และช่วยกระตุ้นให้หลายคนรู้จักคิด สังเกต และตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่เราอาจมองข้าม เพียงเพราะเรานึกว่ามันไม่มีความสำคัญ ดังที่ Albert Einstein ผู้เป็นรูปธรรมของคำว่า “ยอดอัจฉริยะ” ที่กล่าวอมตะวาจาว่า

“ความรู้ไม่ได้สำคัญเท่าความคิด”

0 Comments:

Post a Comment

<< Home