Dawdle Man

10 July 2006

To reach the unreachable star


To dream the impossible dream
To fight the unbeatable foe
To bear with unbearable sorrow
To run where the brave dare not go
To right the unrightable wrong
To love pure and chaste from afar
To try when your arms are too weary
To reach the unreachable star
This is my quest to follow that star
No matter how hopeless, no matter how far
To fight for the rightWithout question or pause
To be willing to marchInto hell for a heavenly cause
(จากส่วนหนึ่งของเพลง The Impossible Dream)
เพลงประกอบละคอนเวทีเรื่อง Man of La Mancha

วินาทีที่ อัลแบร์โต จิลาดิโน ผ่านลูกบอลถึงเท้า อเล็กซานโดร เดล ปิเอโล กองหน้าทีมชาติอัซซูรี่ ที่วิ่งสอดขึ้นมาจากแถวสองในกรอบเขตโทษด้านซ้าย โดยปราศจากการประกบของกองหลังทีมชาติเยอรมัน นาทีที่ 120 ของการแข่งขัน วินาทีนั้นผมสำนึกว่าฟุตบอลโลก 2006 ของผมสิ้นสุดลงแล้ว

จริงอยู่…ผมไม่เคยคาดหวังว่าปีนี้ผมจะเห็นภาพ มิคาเอล บัลลัค จุมพิตถ้วยฟุตบอลโลก พร้อมกับการฉลองอย่างยิ่งใหญ่ของชาวเยอรมัน แต่สำหรับส่วนลึกของจิตใจ ผมก็อดผิดหวังไม่ได้ที่ การไขว่คว้าดาวดวงที่ 4 มาประดับหน้าอกของทีมชาติที่ผมติดตาม ก็ยังเป็นเพียงความฝันที่ยังเอื้อมไม่ถึงอยู่ดี

ผมนอนไม่หลับ ร่างกายตื่นตัวเพราะ อาดินารีน ที่พรุ่งพร่านจากความตื่นเต้นตลอดการแข่งขัน ในคืนนั้น ผมนั่งลำลึกประสบการณ์ในวัยเยาว์ ที่ถูกซุกซ่อนไว้ในส่วนลึกของลิ้นชักความทรงจำ ผมใช้เวลารื้อค้น ปัดฝุ่น และย้อนเวลากลับไปดื่มด่ำกับบรรยากาศดีๆ ในอดีตอีกครั้ง

----[1]----

ทุกคนล้วนผ่านชีวิตวัยเยาว์ ที่เต็มด้วยสีสัน และจินตนาการอันงดงาม

ไม่มากก็น้อย เราทุกคนต่างเคยมีบุคคล ที่เราติดตาม เป็นตัวอย่าง หรือเป็นทุกสิ่งที่เราอยากเป็น

เช่นเดียวกัน ในชีวิตของคนเราล้วนเจอกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งเพื่อนฝูง การเรียน การงาน ความรัก หรือชีวิตครอบครัว

แต่สำหรับทีมฟุตบอลที่เราเลือก ที่เราเชียร์ และที่เรารัก คือสายเลือดที่จะอยู่กับเราตลอดไป

ผมรู้จักมหกรรมฟุตบอลโลก พร้อมๆ กับการรู้จัก ทีมชาติเยอรมัน

คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่า ทีมชาติเยอรมันเมื่อ 16 ปีที่แล้วคือชุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1974 ทีมชุดนั้นประกอบด้วยนักเตะระดับโลกหลายคนทั้งกองหลัง กองกลาง และกองหน้า

ท่าที่ผมจำได้ นักเตะทีมชาติอินทรีเหล็กระดับซุปเปอร์สตาร์ หลายคนได้รับฉายาพิลึกๆ ที่สื่อมวลชนไทยตั้งให้ เช่น “ซุปเปอร์แมน” – โลธาร์ มัทเทอุส, “ฉลามขาว” – เจอร์เก้น คริ้นส์มัน, “ยอดคนแสนคม” – โทมัส เฮสเลอร์ และ “เจ้าเป็ดน้อย!?” – รูดี้ โฟล์เรอร์ ผมเชื่อว่า ส่วนใหญ่ ฉายาเหล่านั้นล้วนได้รับอิทธิพล จากภาพยนตร์อเมริกัน ที่เข้ามาฉายในประเทศอยู่บ้าง

ฉายาผู้เล่นที่แสนแปลก ประกอบกับชื่อเล่นทีมที่แสนเท่ห์ - สิ่งเหล่านี้เป็นแม่เหล็กดึงดูดใจเด็กๆ อย่างผม เป็นสมาชิกอินทรีเหล็กแฟนคลับได้อย่างไม่ยากนัก และเมื่อผลงานอันยอดเยี่ยมของพวกเขา – การคว้าดาวดวงที่สามมาประดับหน้าอก ก็ยิ่งเป็นเหตุผลผูกใจของผมไว้กับ ทีมฟุตบอลจากยุโรปนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สำหรับผม ในวัย 10 ขวบ การที่ได้เห็นทีมฟุตบอลที่รัก ครองความยิ่งใหญ่ระดับโลก เป็นเหมือนความฝัน เหมือนกับตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ครั้งนี้

หลังจากนั้น 2 ปี ทีมอินทรีเหล็ก ภายใต้การคุมทีมของ แบร์ตี้ โฟร์ก ผู้สืบทอดตำแหน่งของ เบคเคนบาวเออร์ ที่ลาออกหลังจากนำทีมถึงจุดสูงสุด ยังคงด้วยผู้เล่นหลักที่คว้าแชมป์โลกที่อิตาลีอยู่ บททดสอบแรกของการคงความยิ่งใหญ่ของศักดิ์ศรี “แชมป์โลก” อยู่ที่ประเทศสวีเดน ในทัวร์นาเมน์ ยูโร 1992 แต่ปีนั้นกลับเป็นปีของ ทีมชาติเดนมาร์ก ที่ได้รับสิทธิ์เข้าแข่งขันแทนยูโกสลาเวีย (เพราะมีปัญหาทางการเมือง) ในวินาทีสุดท้าย กลับแสดงผลงานอย่างเหนือนความคาดหมาย ด้วยพลังประสานของ สองพี่น้อง “ไมเคิล-ไบรอัน เลาดรู๊ป” คว้าแชมป์ ด้วยการโค่นทีมแชมป์โลก 2-0

ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปต่อเดนมาร์กในคืนนั้น ทำให้ผมรู้ว่า “ตำแหน่งมือวางอันดับ 1” ของโลก (หรือกาแล็คซี่) และ “แชมป์โลก 3 สมัย” ไม่เป็นเครื่องการันตีของชัยชนะ ตลอดไป

----[2]----

ปฏิทินตั้งโต๊ะฉบับเก่าถูกเปลี่ยนไป มหกรรมฟุตบอลโลก กลับมาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นครั้งแรก ที่ฟุตบอลโลกจัดในประเทศที่ (เชื่อว่า) ประชาชนกว่าครึ่งไม่รู้จักกีฬาชนิดนี้ และสิ่งที่น่าขันที่สุดก็คือ – สนามที่ใช้แข่งฟุตบอลโลกทั้งหมด เป็นสนามที่ปกติใช้ในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล!

นักวิเคราะห์หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อเมริกา เป็นตลาดใหญ่ มีเงินทุนมหาศาล ดังนั้นฟีฟ่าจึงต้องการสร้างฟุตบอลให้เป็นกีฬาที่อเมริกันชนนิยม เพื่อขยายขอบเขตความมั่งคั่งขององค์กร ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงยอมเสี่ยงใจเลือก อเมริกาเป็น เจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1994

ว่ากันว่า อาถรรพ์ฟุตบอลโลกมีจริง ทีมชาติจากยุโรปไม่เคยชูถ้วยฟุตบอลโลกที่ทวีปอเมริกา แม้แต่ครั้งเดียว ขณะเดียวกัน ทีมฟุตบอลจากทวีปอเมริกา ก็ไม่เคยคว้าแชมป์ในดินแดนยุโรปเลย ยกเว้นการคว้าแชมป์ครั้งแรก ของบราซิล เมื่อปี 1954 ที่ประเทศสวีเดน ฟตุบอลโลกปีนั้นจบลงด้วยความยิ่งใหญ่ของทีมชาติบราซิล ที่สามารถคว้าแชมป์สมัยที่ 4 ได้สำเร็จ

เป็นครั้งสองที่ผมต้องอกหักจากทีมฟุตบอลที่ผมเชียร์ สำหรับชาวเยอรมัน การแข่งขันที่อเมริกา คงไม่ใช่สิ่งที่น่าจดจำสำหรับพวกเขา หลายคนโทษอากาศที่แสนร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนของสหรัฐ แต่ผมกลับไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น

ผมเชื่อว่า ความสามารถนักเตะที่หลงเหลือจากชุดแชมป์โลก 1990 ส่วนใหญ่เริ่มถดถอยลงตามเวลา เนื่องอายุที่มากขึ้น อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นสาเหตุจากการที่นักเตะชุดนี้ไม่ค่อยมีความสามัคคีกันมากนัก จึงทำให้ผลงานโดยรวมของพวกเขาอยู่ในระดับค่อนข้างน่าผิดหวัง เส้นทางของขุนพลทีมชาติเยอรมันจึงสิ้นสุดที่รอบ 8 ทีมสุดท้าย ด้วยผลงานยอดเยี่ยมของทีมชาติบัลกาเลีย และการแจ้งเกิดของนักเตะระดับโลกคนใหม่ ฮริสโต สตอยคอฟ ที่แสดงผลงานระดับยอดเยี่ยมจบคว้าตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมของฟีฟ่า ไม่กี่ปีต่อมา

สองปีต่อมา วงการฟุตบอลเยอรมันกลับมาสู่จุดสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการคว้าแชมป์ยูโร 1996 ฟอร์มการเล่น ของลูกทีม แบร์ตี้ โฟร์ก ชุดนี้จัดว่าค่อนข้างเยี่ยม ถึงแม้ว่านักเตะหลายคนคืออดีตแชมป์โลกปี 1990 ที่เริ่มมีอายุมากขึ้น การฉลองชัยครั้งนี้มีนัยพิเศษอยู่ 2 ประการ คือ หนึ่งการล้างตาจากความผิดหวังในนัดชิงชนะเลิศของรายการนี้เมื่อ ปี 1992 และสอง การคว้าแชมป์ในแผ่นดินอังกฤษ ประเทศที่ถือว่าเป็น คู่รัก-คู่แค้น ตลอดกาล ทั้งด้าน ประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และวงการฟุตบอล การชูถ้วยของกัปตัน เจอร์เก้น คริ้นส์มันส์ ที่สนาม เวมบรีย์ คงเป็นภาพอัปยศฝังใจชาวอังกฤษไปหลายปี ที่ยากจะลืมเลือน

----[3]----

สัจธรรมที่ว่า “เมื่อสิ่งใดถึงจุดสูงสุด มันก็จะตกลงมา” เป็นจริงเสมอ

เค้าลางของความตกต่ำวงการฟุตบอลเยอรมันเริ่มต้นในฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศส เส้นทางของเยอรมันสิ้นสุดที่รอบ 8 ทีมสุดท้าย (เหมือนกับ 4 ปีก่อนหน้า) ด้วยความพ่ายแพ้ต่อฝีทีมชาติโครเอเชียอย่างหมดรูป ด้วยฟอร์มการเล่นที่ไม่เหลือลวดลายของ “จ้าวยุโรป” แม้แต่น้อย ตำแหน่งกุนซือทีมชาติของ แบร์ตี้ โฟร์ก จึงสิ้นสุดลงในวันนั้น และผู้รับตำแหน่งคนใหม่คือ อีริค ริบเบค ที่ต้องทำหน้าที่ไปป้องกันแชมป์ยุโรปอีก 2 ปีต่อมา

การตกรอบแรกอย่างหมดรูปในฟุตบอลยูโร 2000 ที่ประเทศ เนเธอร์แลนด์/เบลเยี่ยม สองปีหลังจากนั้น คือสิ่งที่ตอกย้ำว่า ประวัติความยิ่งใหญ่ของทีมอินทรีเหล็ก นับแต่ปลายยุค 1980 นั้นสิ้นสุดไปนานแล้ว ในสายตาแฟนบอลทั้งหลาย ทีมชาติเยอรมัน เป็นกลายเป็นทีมระดับเกรดบี ที่พร้อมจะแพ้ให้แก่ทุกทีมที่ลงแข่งขันด้วย

ความตกต่ำของวงการฟุตบอลเยอรมันน่าจะมีสาเหตุจาก การที่นักเตะของทีม ส่วนใหญ่มีอายุค่อนข้างสูง สังเกตได้จากอายุเฉลี่ยของทีมที่สูงระดับ 28 ปี นับตั้งแต่การแข่งตั้งแต่ฟุตบอลยูโร 1996 ซึ่งเป็นเพราะการที่พวกเขาพึ่งพิงนักเตะชุดแชมป์โลก 1990 มากเกินไป จึงทำให้นักเตะรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้รับโอกาสให้แสดงผลงานและพัฒนาประสบการณ์กับเกมส์ใหญ่ๆ โดยเฉพาะนักเตะตำแหน่งกองหน้า ที่เป็นหัวใจของเกมรุกของทีม

อีกสาเหตุหนึ่งคือ การที่รูปแบบการเล่นของเยอรมัน ไม่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของลักษณะเกมส์ฟุตบอลในปัจจุบันที่เน้นความเร็ว ความแข็งแกร่งของนักกีฬา จริงอยู่นักเตะเยอรมันขึ้นชื่อว่าเปี่ยมด้วยความแข็งแกร่งทุกยุค ทุกสมัย แต่สไตล์การเล่นแบบ “เหนียวแน่น-หาจังหวะสวนกลับ” สิ่งที่พวกเขายังยือถือเป็นตำราของทีมมานับสิบปี เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อเกมส์ฟุตบอลสมัยใหม่ และทุกทีมที่แข่งต่างก็รู้ทางเยอรมันเป็นอย่างดี

ฟุตบอลโลกปี 2002 เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปเอเชีย ทีมชาติเยอรมันที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นฟูจากความตกต่ำ ถึงแม้ว่าลูกทีมของ รูดี โฟร์เลอร์ จะทำได้ดีในการแข่งรอบแรก แต่เมื่อเจอคู่แข่งในรอบหลังๆ พวกเขากลับชนะคู่แข่งอย่าง ปารากวัย, อเมริกา และ เกาหลีใต้ แบบหืดขึ้นคอ ทั้งๆ ที่ชื่อชั้น และศักดิ์ศรีนั้นห่างเกินจากความยิ่งใหญ่ของอดีตแชมป์โลก 3 สมัย ดังนั้นการพบกับบราซิลในวันสุดท้ายของการแข่งขัน จึงถือว่าเป็นความ “ฟลุค” ครั้งยิ่งใหญ่ของวงการฟุตบอลเยอรมัน ในสายตาของผม และผลการแข่งขันก็เป็นข้อยืนยันว่า ความสามารถของเยอรมันนั้นยังห่างไกลจากความยิ่งใหญ่นัก

กาตกรอบแรกในฟุตบอลยูโร 2004 ที่โปรตุเกส อย่างน่าอับอายอีกครั้งหนึ่ง เป็นแรงผลักดันให้สมาคมฟุตบอลเยอรมัน ตั้งใจแก้ไขปัญหาของทีมชาติอย่างแท้จริง การว่าจ้าง เจอร์เก้น คริ้นส์มันส์ อดีตศูนย์หน้าผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์คุมทีมฟุตบอลสโมสร แม้แต่ครั้งเดียว คือการพนันครั้งใหญ่ของสมาคมที่ต้องการขับดันให้ ทีมอินทรีเหล็กกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2006 ที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพ

การเข้ามาของคริ้นส์มันส์ คือการเปลี่ยนแปลงของทีมชาติเยอรมันอย่างแท้จริง เขานำ “พรรคพวก” ชุดแชมป์ยูโร 96 เข้ามาเป็นทีมงานสายเลือดใหม่ เช่น ดีเตอร์ ไอส์ (มิดฟิลด์ตัวรับ) เป็นหัวหน้าโค้ชชุด U-21, อันเดียส คอปเค่ (ผู้รักษาประตู) เป็นโค้ชผู้รักษาประตู มาเทียส ซามเมอร์ (ลิเบโร่), เป็น Sport Director, โอลิเวอร์ เบียรโฮฟ (กองหน้า) เป็น General Manager อีกทั้งนำโค้ชด้านความฟิตที่มีประสบการณ์ในวงการกรีฑาชาวอเมริกัน มาเป็นหนึ่งในทีมของเขา

ที่สำคัญคริ้นส์มันส์ ได้สร้างรูปแบบการเล่นใหม่ขึ้นมา เขาเปลี่ยนแผนการเล่นแบบ 3-5-2 มาเป็น 4-4-2 และใช้รูปแบบการเล่นแบบเปิดเกมรุก ทำให้เยอรมัน เป็นหนึ่งในทีมที่มีรูปแบบการเล่นน่าติดตามมากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากอดีตอย่างลิบลับ

ผลงานของพวกเขาที่ไม่สวยหรูในนัดอุ่นเครื่อง ไม่ทำให้ใครต่อใครเชื่อได้ว่าเยอรมัน มีดีพอที่จะกลับมาทวงบัลลังก์แชมป์โลก แต่เมื่อการแข่งขันเริ่มต้น และทีมอินทรีหนุ่มแสดงผลงานอย่างยอดเยี่ยมในแต่ละนัดที่พวกเขาลงเล่น ทุกคนจึงเชื่อว่าเยอรมัน มีดีพอที่จะคว้าดาวดวงที่ 4 ไปประดับหน้าอก

---[4]---

ประตูที่สองของอิตาลี ด้วยฝีเท้าของ อเล็กซานโดร เดล ปิเอโร คือการปิดประตูเส้นทางสู่นัดชิงชนะเลิศของทีมชาติเยอรมัน พร้อมกับต่อเวลาให้ผมต้องรอวันฉลองความยิ่งใหญ่ของทีมฟุตบอล ทีมแรกที่ผมเชียร์ไปอีกอย่างน้อง 4 ปี

อย่างน้อยที่สุด การคว้าอันดับที่ 3 ในบ้านเกิดของเยอรมัน เป็นสัญลักษณ์ประกาศให้ผมและชาวโลกมั่นใจ ความยิ่งใหญ่ของทีมชาติเยอรมัน กำลังจะกลับมา และพวกเขาต้องตำแหน่งแชมป์ ยูโร 2008 ในอีก 2 ปีข้างหน้าเท่านั้น

----[5]----

ฟุตบอลโลกปิดฉากลงด้วยเสียงหัวเราะของทีมชาติอิตาลี และคราบน้ำตาของชาวฝรั่งเศส สำหรับผมแล้ว ถึงแม้ว่าทีมของผมจะต้องพยายามไขว่คว้าดวงดาวอีกต่อไป แต่มันก็เป็นช่วงเวลาดีๆ ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสย้อนมิติ กลับเวลาไปในอดีต ได้นึงถึงเวลาที่ผ่านมา และกลับไปสู่ความทรงจำแสนดีที่เริ่มมีสีจางๆ อีกครั้งหนึ่ง

1 Comments:

  • ร่วมรำลึกความทรงจำด้วยคน

    By Blogger David Ginola, at 9:27 pm  

Post a Comment

<< Home