ใครคือนักเศรษฐศาสตร์?
ก่อน post
คงเป็นเพราะความขี้เกียจ ผมถึงปล่อยให้ Blog ไร้การ update มาเกือบเดือน
ช่วงนี้สมองไม่แล่น ไอเดียไม่มา ปัญญา (ที่มีน้อยอยู่แล้ว) จึงไม่เกิด จึงอยาก post บทความเก่า ที่เคยเขียนลง Echo เล่มแรก
บทความนี้เขียนราวๆ หนึ่งสัปดาห์ก่อนผมเข้ารับปริญญา เป็นการค้นหาคำตอบให้แก่คำถามง่ายๆ โง่ๆ ที่ผมเคยทิ้งไว้กับตัวเอง ว่า "ใครคือนักเศรษฐศาสตร์" เมื่อสมัยที่ผมเป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์
เชิญทัศนา
------------------------------------------
ใครคือนักเศรษฐศาสตร์?
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Echo เล่มแรกสุดๆ
โดยปกติแล้วราวๆต้นเดือนกรกฎาคมจนถึงต้นเดือนสิงหาคม เป็นช่วงเวลาที่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยของรัฐต้องเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สถานภาพของนักศึกษากลายเป็น “บัณฑิตใหม่” ที่สังคม (อาจ) คาดหวังว่าปัญญาชนเหล่านี้สามารถนำความรู้ที่เขาร่ำเรียนมาใช้เพื่อพัฒนาสังคม ให้สมกับเงินภาษีที่อุดหนุนค่าเล่าเรียนของพวกเขา
อีกไม่กี่วันหลังจากผมเขียนต้นฉบับบทความนี้เสร็จ ผมจะเป็นเศรษฐศาสตร์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับเพื่อนๆร่วมรุ่นอีกหลายคนที่เรียนมาด้วยกัน
ผมคิดว่าผู้คนในสังคม (ส่วนหนึ่ง) มอบตำแหน่ง “นักเศรษฐศาสตร์” พ่วงท้ายชื่อของผมและเพื่อนๆตั้งแต่เข้าเรียนที่คณะใหม่ๆแล้ว
เพื่อนๆที่โรงเรียนเก่าของผมจำนวนมากเรียนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เพราะพวกเขาตั้งใจเป็นวิศวกรเพื่อสร้างบ้าน สร้างตึก บางคนเข้าโรงเรียนแพทย์เพื่อจบมาจะได้เป็นหมอรักษาคนไข้ หลายคนเรียนนิติศาสตร์เพื่อจะเป็นผู้พิพากษา หรือนักกฎหมาย อีกส่วนหนึ่งเรียนพาณิชย์ศาสตร์เพราะเขารู้ว่าพวกเขาต้องเป็นนักธุรกิจสานต่อกิจการของครอบครัวเขา
ผมตั้งคำถามกับตัวผมว่า เมื่อที่ผมต้องการจะเรียนเศรษฐศาสตร์เป็นเพราะว่าผมต้องการเป็นนักเศรษฐศาสตร์หรือเปล่า?
ผมหาคำตอบให้กับตัวเองไม่ได้เพราะผมยังไม่แน่ใจว่าตอนนี้ผมเป็น “นักเศรษฐศาสตร์” จริงๆหรือไม่ หรืออาจเป็นเพียงชายหนุ่มคนหนึ่งที่เรียนวิชาของคณะเศรษฐศาสตร์มากกว่าหลายๆคน
“แล้วเศรษฐศาสตร์คืออะไรและใครคือนักเศรษฐศาสตร์ล่ะ?” ผมแก้ถามใหม่ บางทีคำตอบที่ได้อาจช่วยแก้ปัญหาที่ผมยังตอบไม่ได้ – ก็เป็นได้
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 ก.ค. 47) ผมและรุ่นน้องอีกสองคนได้นั่งคุยกับนักเรียนม.ปลายจากหลายโรงเรียนกลุ่มหนึ่งที่มหาวิทยาลัย เด็กๆเหล่านี้รวมกลุ่มสมัครพรรคพวกที่ต่างที่สนใจอยากทำความรู้จักกับ “วิชาเศรษฐศาสตร์” มากกว่าที่เขาเคยเรียนตอนอยู่ชั้นม.5 พวกเขารวมกลุ่มทำกิจกรรมค้นหาความรู้เกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์เช่นการอบรมความรู้เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น การดูงานตามหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ รวมถึงการพูดคุยกับ “เด็กเสด” อย่างพวกเรา เพื่อให้พวกเขามั่นใจว่าเศรษฐศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่เขาชอบ
อย่างที่ผมกะไว้ คำถามแรกที่พวกเขา “ยิง” ใส่พวกเรา เป็นคำถามที่แสนคลาสสิก แต่ตอบยากเหลือเกิน พวกเขาถามว่า “เศรษฐศาสตร์เรียนเกี่ยวกับอะไร?”
ต่อไปนี้เป็นคำตอบที่ผมให้กับพวกเขารูปแบบที่ถูกเรียบเรียงมาใหม่ (โดยผนวกความคิดของรุ่นน้องอีกสองคนไว้ด้วย)
“...ผมไม่อยากให้พวกคุณจดจำเศรษฐศาสตร์ในฐานะ ‘วิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดภายใต้ภาวะความต้องการ (ของมนุษย์) ที่ไม่มีที่สิ้นสุด’ อย่างที่พวกคุณมักพบข้อความลักษณะเหล่านี้ในย่อหน้าต้นๆในบทแรกของตำราเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย ผมรู้สึกว่านิยามที่ว่านั้นมันดูคับแคบเกินไปและเป็นการตีกรอบความคิดของนักเรียนเศรษฐศาสตร์ให้อยู่ห่างจากสังคมศาสตร์อื่นๆอยู่พอสมควร
ผมเชื่อว่าหลายๆคนที่สนใจอยากเรียนเศรษฐศาสตร์คงเป็นเพราะว่าอยากรวย อยากเล่นหุ้นเป็น อยากเป็นนักลงทุน อยากรู้เรื่องการเงินการธนาคาร ผมขอบอกว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนประกอบที่ไม่สำคัญของการเรียนเศรษฐศาสตร์เลย
แต่ถ้าให้ผมอธิบายว่าเศรษฐศาสตร์เรียนเกี่ยวกับอะไร...ผมในฐานะคนที่เพิ่งจบมาใหม่ๆ ผมก็จะตอบโดยสรุปสั้นๆว่า เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล และปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาในสังคม พูดง่ายๆก็คือการศึกษาสังคมมนุษย์ (สังคมศาสตร์) ที่เราไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร หรือสามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรในอนาคต โดยอาศัย ‘กรอบความคิด’ หรือแว่นสายตาแบบหนึ่ง ซึ่งแว่นสายตานี้อาจคล้ายกับ Night Vision ที่หากเราเปิดใช้ในห้องมืดก็ทำให้เราสามารถเห็นสิ่งของในห้องได้ แต่เพียงสามสี (ดำ ขาว เขียว) ด้วยแว่นสายตาพิเศษนี้ทำให้เรา ‘เข้าใจ’ สังคมได้ชัดเจนขึ้น และสามารถทำนายได้ว่าจะเกิดอะไรต่อไปภายใต้สีทั้งสามที่เราเห็น
ภายใต้นิยามที่ผมให้ไว้ เศรษฐศาสตร์ก็ทำหน้าที่เดียวกับวิชาสายสังคมศาสตร์อื่นๆ เช่นเดียวกับรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา หรือจิตวิทยา เพียงแต่วิชาเหล่านั้นก็มีกรอบแว่นที่ให้สีในการมองที่แตกต่างกัน แต่จุดมุ่งหมายหลักก็คือทำความเข้าใจพฤติกรรมสังคมมนุษย์
พวกคุณอาจสงสัยว่าถ้าเศรษฐศาสตร์ทำหน้าที่เดียวกับวิชาสังคมศาสตร์อื่นๆ แล้วทำไมเราถึงต้องเรียนเศรษฐศาสตร์ หรือทำไมเราต้องการนักเศรษฐศาสตร์?
ถ้าให้ตอบอย่างง่ายๆก็เป็นเพราะว่าถึงแม้นักเศรษฐศาสตร์หรือ นักสังคมศาสตร์อื่นๆต่างศึกษาสังคมมนุษย์เหมือนกัน แต่ว่ามุมมองของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน มันเหมือนกับกลุ่มคนที่มุงดูรูปปั้นรูปหนึ่ง แต่ละคนจะมองในมุมแต่แตกต่างกันหมด คนที่มองด้านหน้าจะไม่สามารถเห็นข้างหลัง เช่นเดียวกัน...คนที่อยู่ข้างหลังก็ไม่สามารถมองเห็นว่าข้างหน้าเป็นอย่างไร คนที่อยู่ด้านซ้ายขวาก็ไม่รู้ว่าคนที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามเห็นอะไร ดังนั้นถ้าเรามีแต่นักรัฐศาสตร์ เราก็จะมีความเข้าใจสังคมในรูปแบบของความสัมพันธ์ของอำนาจ หากมีแต่นักสังคมวิทยา เราก็จะเข้าใจแต่รูปแบบวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมในสังคมนั้นๆ ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์สามารถเติมเต็มสิ่งที่คนอื่นๆไม่สามารถทำความเข้าใจได้ขัดเท่า ซึ่งก็คือความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจกับสังคม
ความรู้หลักๆที่พวกคุณจะได้จากการเรียนเศรษฐศาสตร์ก็คือ การอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ต่างๆในความหมายของความสัมพันธ์ของหน่วยต่างๆในสังคมในรูปแบบของการแลกเปลี่ยน (Exchange) พูดอย่างนี้คุณอาจไม่เข้าใจ แต่ถ้าผมบอกว่าการที่ผมไปทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งคือการที่ผมไป ‘ขาย’ แรงงานของผมเพื่อ ‘แลก’ กับเงินเดือนที่ผมได้ หรือการที่รัฐบาลขึ้นยอมลดภาษีนำเข้าเพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น ก็คือรัฐยอม ‘สูญเสีย’ รายได้เพื่อให้มีสินค้านำเข้ามากขึ้นและราคาสินค้าในประเทศถูกลง สิ่งเหล่านี้ศาสตร์อื่นๆไม่สามารถอธิบายได้ดีเท่าเศรษฐศาสตร์ นี่คือสิ่งที่เศรษฐศาสตร์ช่วยอุดช่องว่างของคนอื่น
ในฐานะคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์มาสี่ปี ผมสามารถบอกได้ว่ากรอบความคิดแบบเศรษฐศาสตร์นั้นมีมากกว่าการเอาเส้นตรงสองเส้นมาตัดกันแล้วได้ระดับราคาสินค้าพร้อมกับปริมาณสินค้าที่เกิดการแลกเปลี่ยนกัน เศรษฐศาสตร์สอนให้เราคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีขั้นตอนกระบวนการที่ชัดเจนกล่าวคือมันมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับความเป็น ‘วิทยาศาสตร์’ ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ความเป็นวิทยาศาสตร์ในเศรษฐศาสตร์อย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การนำคณิตศาสตร์ หรือเทคนิคทางสถิติศาสตร์เข้ามาเป็น ‘เครื่องมือ’ สำคัญในศึกษาโจทย์ปัญหาทางสังคม ซึ่งวิชาอื่นๆในสังคมศาสตร์แทบไม่มีการประยุกต์เครื่องมือเหล่านี้เข้ากับกรอบความคิดของตน
‘ความเป็นวิทยาศาสตร์’ ของเศรษฐศาสตร์นั้นมันก็เหมือนใบมีดสองคม คือมีทั้งประโยชน์และมีโทษ ประโยชน์มันก็คือ – เราสามารถคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นถ้าราคาสินค้าลดลง 10% ปริมาณสินค้าที่เราสามารถขายได้ (และต้องผลิตเพิ่ม) มีกี่เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนการผลิต รวมถึงรายได้ และกำไรที่ผู้ผลิตได้รับเป็นเท่าไร คณิตศาสตร์สามารถช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้
สำหรับผมแล้วคณิตศาสตร์ไม่ใช่ทุกสิ่ง ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะผมไม่ชอบคณิตศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไร แต่ผมก็มีเหตุผลที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น ผมรู้สึกว่าองค์ประกอบต่างๆในสังคมจำนวนมาก ซึ่งจริงๆแล้วเป็นส่วนใหญ่เสียด้วย ไม่สามารถตีค่าออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน เช่นระดับความสุข ระดับความรู้ความสามารถ หรือแม้แต่กฎเกณฑ์หรือกติกาต่างๆในสังคมเช่นวัฒนธรรม การเมือง ก็ไม่สามารถสรุปออกเป็น Function ที่ตายตัวได้ ในเมื่อเรายังไม่สามารถพัฒนากระบวนการวัดค่าได้อย่างสมบูรณ์เราก็ไม่สามารถให้ค่าตัวเลขที่แท้จริงได้ เราให้แต่ได้ตัวเลขประมาณการ ซึ่งโดยมากในการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ค่าหรือ Function เหล่านั้นจะถูก “แกล้งลืม” ว่ามีอยู่จริงโดยนักคณิต-เศรษฐศาสตร์เหล่านั้น ซึ่งผลที่ได้ก็คือการทำความเข้าใจสังคมภายใต้กรอบความคิดแบบเศรษฐศาสตร์ที่มองเห็นภาพจริงไม่ครบสีนั้นกลับพร่ามัวขึ้นไปอีก
สิ่งที่ผมพยายามเน้นเสมอก็คือ นักเรียนเศรษฐศาสตร์ทุกคนพึงตระหนักว่า เศรษฐศาสตร์คือส่วนหนึ่งของ ‘ศาสตร์’ ทั้งหลายในสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ทุกสิ่งและไม่คิดว่าเศรษฐศาสตร์คือความจริงแท้แน่นอน นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ดีไม่ควรให้ตนเองถูกหล่อหลอมจนกลายเป็น เศรษฐศาสตร์ที่เดินได้ พูดได้ กินได้ พวกเขาควรละลึกเสมอว่า การทำความเข้าใจโลกให้มีความสมบูรณ์และชัดเจนที่สุดต้องอาศัย Night Vision หลายๆแบบเพื่อมองเห็นโลกนี้ในสีที่หลากหลายและมีความชัดเจนที่สุด
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากที่นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนต้องมี แต่น้อยคนพูดถึงมัน สิ่งนั้นคือ ‘คุณธรรม’ กับนักเศรษฐศาสตร์
หลายคนอยากเรียนที่ธรรมศาสตร์เพราะอยากเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ป๋วย เพราะชื่นชมในความเป็นคนดีของท่าน ผมไม่คิดว่าสิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ดีเท่าไรนัก คุณจะอยู่ที่จุฬาฯหรือสถาบันแห่งไหนก็ตาม คุณก็สามารถเป็นลูกศิษย์อาจารย์ป๋วยได้ ขอเพียงแค่คุณนำการใช้ชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างและทำให้ได้มากกว่าท่าน หรืออย่างน้อยสักครึ่งหนึ่งก็ยังดี ผมเชื่อว่าสิ่งนี้ต่างหากคือคำสอนที่แท้จริงของท่าน สิ่งนี้คงคล้ายๆกับที่มหาตมะ คานธี เคยกล่าวว่า “My life is my message.” ก็เป็นได้
ผมเชื่อว่าบ้านเมืองเรามีคนที่เรียกตัวเองว่า ‘ลูกศิษย์อาจารย์ป๋วย’ หรือ ‘ผู้รักและชื่นชมอาจารย์ป๋วย’ มากมายเกินพอแล้ว แต่เราขาดผู้ที่เป็น ‘ยิ่งกว่าป๋วย’ หรือ ‘ป๋วยคนใหม่’ ผู้ที่จะทำให้อุดมการณ์ คุณธรรม และความดีของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีชีวิตอยู่ต่อไปในสังคมที่เน่าเหม็นเช่นนี้
หากพวกคุณเป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ละเลยเรื่องของคุณธรรมไปด้วยแล้ว ผมคิดว่าพวกคุณคงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่พิเศษกว่านักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป คุณจะเป็นคนเก่งขณะที่เป็นคนดี และเป็นคนดีได้พอๆกับที่เป็นคนเก่ง ผมเชื่อว่าถ้าประเทศเรามีคนอย่างนี้เพิ่มขึ้น พวกเราคงสามารถทำอะไรดีๆให้กับคนที่ไม่มีวาสนาเท่าพวกเราได้มากมาย...”
ผมไม่แน่ใจว่าเขาถามได้ตรงกับคำตอบของผมมากเท่าไร เพื่อนผมคนหนึ่งเคยบอกผมว่าเป็นการยากที่จะอธิบายเรื่องของเศรษฐศาสตร์ให้คนที่ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์เข้าใจได้ ผมเข้าใจความรู้สึกนั้นดี และคราวนี้ยิ่งกว่าด้วยซ้ำเพราะคราวนี้คู่สนทนาเป็นเด็กและผมไม่กล้า “โฆษณาชวนเชื่อ” ให้เด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าพวกเขาต้องเลือกคณะที่ตัวเองจะเรียน (อย่างน้อยก็ 4 ปี) และเป็นที่ที่หล่อหลอมความคิดติดตัวเขาไปตลอดชีวิต มันคงไม่ดีที่ผมเจาะจงว่าเศรษฐศาสตร์ดีกว่าวิชาอื่นๆอย่างไร ผมได้แต่หวังว่าคำพูดของพวกเราได้ทำให้เด็กๆเหล่านั้นเข้าใจว่าเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วได้อะไรนอกจาก Demand/Supply GDP/GNP ดัชนีหลักทรัพย์ กลไกอัตราดอกเบี้ย ฯลฯ
ย้อนกลับมาที่คำถามของผม “นักเศรษฐศาสตร์คือใคร?”
หลายคนอาจคิดว่านักเศรษฐศาสตร์คือบรรดา นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในตลาดหุ้น นักการธนาคาร หรืออาจารย์ที่ทำงานอยู่บนหอคอยงาช้างทั้งหลาย แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น
ผมเชื่อว่าใครๆก็สามารถเป็นนักเศรษฐศาสตร์ได้ สำหรับผมนักเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ผู้วิเศษ หรือพ่อมดการเงินอะไร นิยามของคำว่า “นักเศรษฐศาสตร์” ของผมนั้นกว้างมาก มันหมายถึงผู้ที่สนใจศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมทางสังคมโดยอาศัยกรอบความคิดทางเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ว่านั้นสามารถศึกษาได้จากตำรา หนังสือต่างๆ หรือแม้แต่การเฝ้าสังเกตพฤติกรรมต่างๆในเศรษฐกิจหรือสังคม
ผมเริ่มมีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่สมัยชั้นม.ต้น หลังจากที่วันหนึ่งผมนั่งคิดอะไรไปเรื่อยๆ ผม “บังเอิญ” พบความสัมพันธ์ระหว่างราคากับปริมาณสินค้าที่ขายและการผลิต (Demand-Supply) รวมถึงความข้องเกี่ยวกันระหว่างราคาหลักทรัพย์และอัตราดอกเบี้ยทั้งภายในและต่างประเทศ วินาทีนั้นผมเข้าใจความรู้สึกของ “อาร์คิมิดิส” เมื่อเขาค้นพบกฎความสัมพันธ์ระหว่างมวล ความหนาแน่น และปริมาตรวัตถุ จนต้องร้อง “ยูเรก้า!!” ออกมาพร้อมกับวิ่งเปลือยกายไปรอบเมือง
หลักเศรษฐศาสตร์ที่ผมค้นพบเป็นเพียงความเข้าใจพฤติกรรมในเศรษฐกิจ เมื่อผมได้เรียนเศรษฐศาสตร์สมัยอยู่ม.ปลาย ผมได้รู้ว่ามีคนคิดสิ่งเดียวกับผมได้ก่อนผมมาเกือบ 100 ปีแล้ว – แถมยังมีระเบียบทางความคิดที่ชัดเจนและมีหลักการกว่าของผมเสียด้วย นี่คงเป็นจุดเริ่มของการเดินของผมเข้าสู่ชุมชนวิชาการของนักเศรษฐศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์
ที่ธรรมศาสตร์ผมได้เรียนกับอาจารย์เก่งๆหลายท่าน สี่ปีที่ผ่านมาผมรู้จักเศรษฐศาสตร์มากขึ้น เข้าใจตรรกะของมันได้ดีขึ้น และรู้สึกว่าเศรษฐศาสตร์มีพลังมากพอที่สามารถใช้เป็นหลักเพื่อไปทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ ผมพร้อมที่จะนำกรอบความคิดแบบเศรษฐศาสตร์ที่ผมได้มาไปประยุกต์กับกรอบความคิดอื่นๆเพื่อทำความเข้าใจและวิเคราะห์สังคมมนุษย์ที่แสนซับซ้อนแล้ว
เมื่อบ่ายวันอาทิตย์นั้นผมทิ้งท้ายบอกกับเด็กๆเหล่านั้นไว้ว่า
“...ตลอดเวลา 4 ปีที่ผมเรียนที่ธรรมศาสตร์ ผมไม่เคยเสียใจกับการที่ผมได้รู้จักเศรษฐศาสตร์เลย ผมสนุกกับการที่ได้เข้าใจโลกผ่านมุมมองแบบเศรษฐศาสตร์และผมคิดว่าเศรษฐศาสตร์ได้เปิดมุมมองและขยายขอบฟ้าของผมให้กว้างยิ่งขึ้น...”
ตอนนี้ผมมั่นใจแล้วว่าผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ (อย่างน้อยก็ตามนิยามของผม) และผมจะรู้สึกภูมิใจมากที่มีคนเรียกผมว่าอย่างนั้น
หมายเหตุจากผู้เขียน
ผู้เขียนขอขอบคุณ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย และ อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ที่ได้ช่วยเปิดมุมมองของผุ้เขียนไม่ให้จมปลักอยู่แค่“เศรษฐศาสตร์” เพียงอย่างเดียวและทำให้ผู้เขียนตระหนักว่าความรู้เศรษฐศาสตร์หรือวิชาแขนงใดๆเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจโลกนี้ได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังสอนว่า “นักเศรษฐศาสตร์ที่ดี” ควรเป็นเช่นไร สำหรับรุ่นน้องอีกสองคนที่ผู้เขียนกล่าวถึงในบทสนทนากับเด็กม.ปลายคือ ชล บุนนาค และ “บัง” ทั้งสองเป็นนักศึกษาและนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามลำดับ
4 Comments:
Dia una buona occhiata a che cosa � pi� importante voi.Sincerely, Treena mk440 night vision rifle scope
By Anonymous, at 10:10 pm
ดีใจ ที่โชคดี หลงทางมาอ่าน
ผ่านไปหลายปีจากที่เขียน
ความคิดเปลี่ยนไปบ้างไหมครับ
By LekParinya, at 11:50 am
คุณDawdle Man - post บทความนี้ไว้ตั้งแต่วันที่ พ.ย. 19, 2005
ปัจจุบัน . . . ความคิดเกี่ยวกับหัวข้อนี้ เป็นอย่างไรค่ะ
แต่อ่านแล้ว รู้สึกดีนะคะ ที่ยังมีเด็กรุ่นใหม่ ที่มีความคิดอย่างนี้
โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้มีเฉพาะ supply - demand เพราะทุกครั้งที่มีการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่คำนึงถึงเสมอคือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ตรงนี้ต่างหากที่บอกคุณค่าของความเป็นนักเศรษฐศาสตร์
รู้สึกดีค่ะ ที่ได้มีโอกาสมาอ่าน
Oct 5th, 2007
By Unknown, at 9:15 pm
หนูก็รู้สึกดี นะคะ ที่ได้ มาอ่าน
ตอนนี้หนูเรียนเศรษฐศาสตร์ ปี 2 คือตอนนี้หนูก็เริ่มสับสนเหมือนกันว่า ทำไมตัวเองมาเรียนเศรษฐศาสตร์
แต่ได้อ่าน หนูก็รู้สึกดี ขึ้นเยอะ
By Anonymous, at 7:14 pm
Post a Comment
<< Home