Dawdle Man

24 September 2005

"Another part of me"



หมายเหตุก่อนเขียน

จริงๆ แล้ว ความมั่นใจของผมกับการเขียนบทความชิ้นนี้มีไม่สูงนักเมื่อเทียบกับข้อความอื่นๆ ที่เคยเขียนก่อนหน้านี้ เหตุผลก็คือ – ผมไม่เคยมีและจะไม่มีวันมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องราวที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ สิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุดก็คือการเรียบเรียงความคิดและจินตนาการณ์จากสมองของผมเกี่ยวกับสิ่งที่ผมได้รับรู้มาเป็นตัวอักษร ดังนั้นผมจึงไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกหรืออารมณ์ได้ทัดเทียมกับผู้มี “ตัวตนที่สอง” อย่างแท้จริง

-----------------------------------

“Another part of me”

คงรู้สึกแปลก หรืองงๆ หากวันหนึ่งผมตื่นนอนแล้วพบว่าตัวเองตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกคล้ายกับอยู่โลกกระจก

หากแต่ในโลกกระจกใบนี้ ผมเห็นตัวผมเอง (ตัวผมอีกคนหนึ่งที่มีใบหน้า รูปร่าง บุคลิค ท่าทางคล้ายคลึงกันอย่างมาก) แต่สิ่งที่ดูเหมือนกับเงา (ตัวตนที่สองของผม) ในกระจกบานนี้ไม่เหมือนกับ “เงา” ที่ผมเห็นในกระจกในห้องน้ำ ตัวตนที่สองของผมมีอิสระมีความคิดไร้พันธะจากชีวิตของผม เช่นกันตัวผมก็แยกจากตัวเขา แตกต่างจาก “เงา” ทีผมเห็นในโลกคู่ขนานในห้องน้ำอย่างสิ้นเชิง

ใช่! ผมกำลังจินตนาการว่าหากวันใด ผมเกิดบังเอิญผมรู้ว่าผมมีฝาแฝดผู้พี่/ผู้น้อง อีกคนหนึ่ง และได้พบตัวเขาเป็นๆ

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมานั่งดูสารคดีของ BBC ที่ฉายทางช่อง UBC X-Zyte เป็นของกับการทดลองของกลุ่มแพทย์และนักจิตวิทยาชาวอังกฤษและอเมริกัน พวกเขาทำการทดลองเพื่อค้นหาคำตอบว่าพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม (รวมถึงการเลี้ยงดูในวัยเด็ก) มีผลต่อพฤติกรรม ความรู้สึก และรสนิยม ของฝาแฝดหรือไม่

การทดลองขั้นแรกเริ่มจากเชิญอาสาสมัคร “ฝาแฝดแท้” (เกิดจากไข่ใบเดียวกันและมี DNA เหมือนกัน) มาทดสอบเพื่อค้นหาฝาแฝดที่ “เหมือนกัน” ที่สุด เช่นใช้วัดความเหมือนของหน้าตา น้ำเสียง ลักษณะการพูด ปฎิกริยาตอบสนองทางประสาทสายตา การรับรู้รส และผิวหนัง และรวมถึงการดูลายนิ้วมือของแต่ละคนด้วย

การทดลองนี้มีเพื่อค้นหาฝาแฝดคู่ที่มีความเหมือนกันมากที่สุด 4 คู่ (ชาย 2 หญิง 2) เพื่อนำไปทดลองในการทดสอบขั้นที่สองและสาม

การทดลองขั้นที่สองเป็นการทดสอบทางรสนิยมและความรู้สึกของแฝดทั้งสี่คู่เช่น รสนิยมต่อเพศตรงข้าม การเลือกอาหารในภัตตาคาร การเลือกซื้อเสื้อผ้าในห้างสรรพสินค้า การแสดงอารมณ์ของแต่ละคนต่อสถาณการณ์ขบขัน/ตื่นเต้น/สยดสยอง

สิ่งที่เป็นเรื่องน่าแปลกใจและเป็นความรู้ใหม่แก่ผมเป็นอย่างมากก็คือ สถานการณ์เกือบทั้งหมดจากทดลองบ่งชีว่าฝาแฝดทั้งสี่มีรสนิยมและความรู้สึกคล้ายคลึงกันเป็นอย่างยิ่ง

การทดลองเรื่องรสนิยมต่อเพศตรงข้าม ฝาแฝดแต่ละคู่ถูกแยกไปในผับคนละแห่ง โดยผู้ทดลองนำฝาแฝดเพศตรงข้าม 6 คู่ เข้าไปทำความรู้จักแยกกันทีละคน โดยแฝดที่ถูกทดลองไม่รับรู้เลยว่าเพศตรงข้ามที่ตนเองกำลังทำความรู้จักอยู่นั้นก็มีฝาแฝดอยู่ด้วย ซึ่งขณะเดียวกันฝาแฝดของเขาก็กำลังคุยกับคนที่มีหน้าตาเดียวกับคนที่อยู่ต่อหน้าเขา ณ เวลานั้น ซึ่งผลลัพธ์เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากที่ฝาแฝดที่ถูกทดลองทั้งสีมีความรู้สึกพึงพอใจกับแฝดคู่เดียวกันทั้งสี่คู่

ฝาแฝดทั้งสี่คู่ถูกแยกให้แต่ละคนไปภัตตาคารคนละแห่งที่อยู่ในเครือเดียวกันและมีเมนูแบบเดียวกันในเวลาพร้อมกัน ฝาแฝดทั้งสี่กลับเลือกอาหารที่ตัวเองอยากกินอย่างเดียวกันซึ่งสรุปได้ชัดเจนว่าฝาแฝดมีรสนิยมอาหารที่เหมือนกัน

เช่นกัน เมือฝาแฝดถูกแยกนำไปเลือกซื้อเสื้อผ้าในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ผลที่ออกมาก็คือฝาแฝดทุกคู่ต่างเลือกเสื้อผ้าในแบบ สี และไสตล์ ที่คล้ายกันเป็นอย่างยิ่ง

ในการทดลองด้านการแสดงอารมณ์ขบขัน/ตื่นเต้น/สยดสยอง ที่ฝาแฝดถูกนำไปเล่นเครื่องเล่นหวาดเสียวในสวนสนุกและให้ชมภาพยนตร์ต่างๆ ซึ่งผลสรุปก็เป็นในทิศทางเดียวกับการทดลองแรกๆ

ผลสรุปในการทดลองส่วนที่สองนี้อาจสรุปได้ว่า พันธุกรรมมีอิทธิผลต่อความรู้สึกและรสนิยมมากกว่าสิ่งแวดล้อมที่ฝาแฝดแต่ละคู่เผชิญอยู่

สิ่งที่น่าแปลกใจอย่างหนึ่งก็คือ มีการทดลองเรื่องความเหมือนของกลิ่นกายของฝาแฝด โดยฝาแฝดถูกขอให้รับทานอาหารแบบเดียวกันเป็นเวลา 3 วันติดกันและในวันทดลองให้นำเสื้อที่ตัวเองใส่นอนมาให้สุนัขตำรวจมาค้นหาว่าใครเป็นเจ้าของเสื้อตัวไหน

ผลสรุปกลับเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ แต่ก่อนเรามันเชื่อว่าพันธุกรรมมีผลต่อกลิ่นกาย ดังนั้นฝาแฝดแท้จึงควรมีกลิ่นกายทีเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่าสุนัขตำรวจกลับแยกกลิ่นของแฝดได้อย่างถูกต้องทั้งสี่คู่ เป็นการทำลายข้อสมมติฐานที่นักวิทยาศาสตร์เคยมีอย่างสิ้นเชิง

การทดลองส่วนสุดท้ายคือการทดสอบว่าฝาแฝดคนหนึ่งสามารถ “ปลอมตัว” หลอกคนใกล้ชิดได้นานแค่ไหน

สำหรับการทดลองนี้จะมีการเตี้ยมกันเช่นว่า ฝาแฝดคนพี่พาคุณแม่ไปซื้อของ ระหว่างชอปปิ้งในร้านเสื้อผ้าก็สับตัวกับแฝดคนน้องที่ซ่อนตัวอยู่ในห้องเปลี่ยนเสื้อ และทำหน้าที่ทดแทนคนพี่เพื่อดูว่าจะสามารถหลอกแม่ได้นานเท่าไร

อีกคู่หนึ่งเป็นการหลอกลูกของอีกคนหนึ่ง ขณะที่อีกคู่เป็นการหลอกแฟน และอีกคู่เป็นการหลอกกลุ่มเพื่อนที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเด็ก

ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นดังคาด ถึงแม้ว่ามีการเตี้ยม หรือตกแต่งหน้าตา ใส่เครื่องประดับให้เหมือนกันเป็นอย่างไร ไม่มีแฝดคู่ไหนหลอกสมาชิกในครอบครัวของตนได้เลย เว้นเสียแต่กลุ่มเพื่อนที่อาจหลอกได้นานหน่อยเท่านั้น

แม้ว่าการทดลองทำในเชิงคุณภาพ (Qualitative experiment) ผลสรุปก็ช่วยเพิ่มความกระจ่างกับข้อถกเถียงในวงการวิชาการจิตวิทยาในประเด็นที่ว่าระหว่างสิ่งแวดล้อมหรือพันธุกรรม สิ่งใดแสดงผลต่อพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดต่อระดับปัจเจกบุคคลมากกว่ากัน ซึ่งแนวคิดส่วนใหญ่ได้อิทธิพลจากกลุ่มผู้เชื่อว่าสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญกว่า

ผมรู้จักเพื่อนฝาแฝดจริงๆ แค่ 2 คู่และก็เป็นการรู้จักเพียงผิวเผิน ดังนั้นผมจึงไม่เคยรู้จากปากฝาแฝดว่า จริงๆ แล้วการมีตัวตนที่สองเป็นเรื่องสนุกอย่างที่เคยนึกสนุกเมื่อยังเด็ก (เช่นแต่งตัวเหมือนกัน หรือแกล้งหลอกคน) หรือไม่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามผมก็ไม่คิดว่าผมอยากมีฝาแฝดเลยแม้แต่น้อย เพราะคงรู้สึกแปลกๆ เหมือนกับที่เกริ่นไว้บนหัวบทความ

แต่หากผมเกิดมีฝาแฝดจริง ผมก็คงต้องเปลี่ยนชื่อ Blog เป็น Dawdle Men เพื่อให้ถูกหลักไวยกรณ์อังกฤษ!!

04 September 2005

เจ้าหญิงคนนั้น

วงจรชีวิตวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ของผมมักไม่แตกต่างกับแต่ละสุดสัปดาห์ที่ผ่านๆ มา ยกเว้นหากจำเป็นต้องไปธุระข้างนอกหริอมีสิ่งอื่นใดพิเศษ

โดยทั่วไปผมมักตื่นสายกว่าวันทำงานสักหนึ่งชั่วโมง นั่งอ่านหนังสือพิมพ์มิตชนและไทยรัฐก่อนรอชมการ์ตูนโดราเอมอนตอนเก้าโมงเช้า และดูรายการคุยข่าวของสองคู่หู เป็นความสุขธรรมดาที่ได้มาโดยแทบไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก

สุดสัปดาห์นี้ก็เหมือนกับสุดสัปดาห์อื่นๆ ผมไม่มีความจำเป็นต้องไปธุระนอกบ้าน ผมอยู่บ้านเฉยๆ แต่สาบานเถอะ! ผมแทบไม่แตะหนังสือพิมพ์สักฉบับเลย ผมไม่ดูรายการข่าวทั้งภาคเที่ยงและภาคค่ำสักวินาทีเดียว

ผมเบื่อ ผมไม่อยากรับรู้เรื่องราวที่มาและที่ไปของข่าวคราวเกี่ยวกับ "เจ้าหญิง" คนนั้น ยังไม่รวมถึงข่าวทำนองนี้ที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอดีต

ผมคิดว่าสังคมและสื่อมวลชนควรให้ความสนใจ "เรื่องแบบนี้" เหมือนมันเป็นเพียงน้ำปลาปรุงรสไม่ให้แกงเผ็ดออกรสจัดจ้านเกินไปเพียงเท่านั้น

ผมไม่อยากตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

แต่อยากตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานทางศีลธรรม ความคิด การกำหนดความสำคัญ (prioritise) ของข่าวคราวเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้

เรากำลังทำอะไรกันอยู่? เรากำลังเสียเวลากับเรื่องราวเหล่านี้เกินไปหรือไม่? เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวอย่างนี้? มีคำถามอีกสิบนับร้อยข้อที่ผมอยากตะโกนถามกับสังคมนี้

ป่วยการที่ผมโยนคำถามเหล่านั้นขึ้นมา เพราะรู้ดีว่าการ challenge norms ของสังคมนี้เป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับคนที่เป็น no body in this world

ประวัติศาสตร์สอนให้ระลึกว่าเราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลยฉันใด เราก็ไม่เคยรู้สึกตัวว่าเรากำลังหลงทางซ้ำแล้วซ้ำเล่าฉันนั้น

คงเป็นสัจธรรมที่อยู่คู่สังคมนี้ตราบเท่าผืนทะเลที่อยู่คู่กับหาดทรายกระมัง