Dawdle Man

29 July 2005

Norwegian Wood

หากเป็นไปได้ ผมอยากขอให้คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมฉบับไหน ภาษาใดก็ได้ เพิ่มความหมาย หรือคำจำกัดความ ของคำว่า Norway หรือ นอร์เวย์ ว่า “แพง...แพงโคตรพ่อโคตรแม่” นอกเหนือจาก “ประเทศยุโรปหนึ่งในกลุ่มแสกนดิเนเวีย”

จริงๆ ครับ

ผมเป็นคนโชคดี มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศหลายครั้ง และใช้เวลาช่วงสำคัญของชีวิตอยู่ต่างแดนหลายปี

เชื่อว่าบางคนที่เคยมีประสบการณ์คล้ายคลึงกันนี้ ความเชื่อข้อหนึ่งว่า “หากจะซื้ออะไรแล้ว อย่าคำนวนกลับมาเป็นมูลค่า เงินบาท ไม่เช่นนั้นแล้ว คุณจะไม่ได้ซื้ออะไรเลย”

ความเชื่อที่ว่านี้ ไม่ได้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ทุกคนนามสกุล “Gates” “Buffet” “Whalton” หรือแม้แต่ “ชินวัตร” หากแต่อยู่บนพื้นฐานความแตกต่างทางเศรษฐกิจ (Economic Fundamental) ที่ว่าแต่ละประเทศมีระดับรายได้ต่อหัวที่ไม่ทัดเทียมกัน มีต้นทุนผลิตสินค้าที่ไม่เหมือนกัน ฯลฯ

จึงไม่แปลกที่ ราคาสินค้าที่เมืองไทยใน Numeric Term มีค่าต่ำกว่าบางประเทศหลายเท่าตัวนัก

น่าแปลกที่ว่า ประสบการณ์เดินทางไปต่างประเทศ 2-3 ปีให้หลังมานี้ เริ่มสั่นคลอนความเชื่อดั้งเดิมนั้นเสียแล้ว

สามปีที่แล้ว มีโอกาสได้ไปร่วมงาน Model WTO ที่สวิสเซอร์แลนด์ เป็นเวลา 4 วัน บวกกับท่องเที่ยวคนเดียวอีก 4 วัน เป็นครั้งแรกที่บ่นว่าค่าครองชีพที่นี่สูงมากๆ

จำได้สนิทใจว่า อาหารกลางมื้อแรกที่ตกถึงท้องเป็นแซนวิชขนาดฝรั่งกิน 1 คู่ กับน้ำผลไม่ขวดเล็ก ราคา 12 ฟรังค์ ราคานี้ถูกกว่า Double Cheese Burger ของ Burger Kings ที่มี Potato Chips แถมมาด้วยอยู่ 2 ฟรังค์ และทุกๆ อย่างมีมูลค่าแพงมากๆ เคยบอกพ่อเล่นๆ ว่า หากจะมาช๊อปปิ้งประเทศนี้ ควรนำเงินมาซักล้านบาท

คูณ 30 จะได้ราคาเป็นเงินบาท

เคยถามเพื่อนชาวเยอรมันว่า หากข้ามพรมแดนไปแล้ว ราคาของพวกนี้จะเท่ากันกับที่สวิสหรือไม่ เขาตอบว่าคงราวๆ 30-40% ต่ำกว่านั้น

ขณะที่ผมกำลังเขียน Blog อยู่นี้ ผมมาอยู่ที่ Norway ได้สัปดาห์นึงแล้ว เริ่มมีความรู้สึกแบบ Nostalgia เหมือนได้กลับไปอยู่ที่สวิสอีกครั้ง

Hot Dog ชิ้นละ 25 โคลนโค้กขนาด 500ml บรรจุขวด Pet ราคา 20 โคลน ค่าโดยสารรถบัสระหว่างเมือง 2 ชั่วโมง หัวละ 260 โคลน ฯลฯ

1 โคลนมีค่าประมาณ 6.50 บาท และมีท่าทีที่จะแข็งตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่า สกุลเงินนอร์วีเจี้ยนโคลน มี Positive Coloration กับราคาน้ำมันโลก เพราะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เป็นรายได้หลักของประเทศนี้

นอร์เวย์เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่ม OPEC ที่ใหญ่ที่สุด พลังงานที่แฝงตัวใต้ทะเลของนอร์เวย์ มีมูลค่ามหาศาล นอกจากเหล่าปลาแฮริ่ง และซาลมอน ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ทำให้นอร์เวย์เป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

ดูข้อมูลเศรฐกิจของ นอร์เวย์ได้ที่นี่
http://devdata.worldbank.org/external/CPProfile.asp?SelectedCountry=NOR&CCODE=NOR&CNAME=Norway&PTYPE=CP

ที่น่าแปลกใจก็คือ เคยคุยกับคนที่ทำงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศนี้ เขาบอกเล่นๆ ว่า นอร์เวย์มีความเป็น “คอมมิวนิสต์” ยิ่งกว่าจีนเสียอีก

ระบบสังคม-เศรษฐกิจแบบ Welfare State ของประเทศแสกนดิเนเวีย ที่ อ.สมบูรณ์ แห่งเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่ามันคือ Utopia ที่เขาใฝ่ฝันถึง ทำให้รัฐบาล มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ และการจัดสรรสวัสดิการสังคมให้มีประสิทธิภาพ

จึงไม่แปลกใจที่ประเทศนี้มีระบบภาษีที่หฤโหด ที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

แต่ก็เป็นประเทศที่มีค่าสัมประสิทธิ์ Gini Coefficient ต่ำด้วย

ฤดูที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยงที่นอร์เวย์ มากที่สุดคือ ฤดูร้อน (June-August) อากาศเย็นสบาย ต้นไม้เขียวงามสดใส ต่างกับฤดูอื่นๆ ที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ เต็มไปด้วยหิมะ

นอร์เวย์ เป็นประเทศที่เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ – เดินป่า ปีนเขา ดูนก ตกปลา - ที่อยากหลีกหนีแสงสีเสียง และความศิวิไลซ์ ของป่าคอนกรีตสักระยะ

แต่อย่าหวังว่าประเทศนี้เป็นสวรรค์ของนักช๊อป เพราะทุกอย่างมัน "แพงโคตรพ่อโคตรแม่จริงๆ"

20 July 2005

be Political Economy

เมื่อคืนเข้านอนตอนเที่ยงคืนกว่าๆ เพราะนั่งอ่านหนังสือเก่าๆ ที่ซื้อเก็บไว้ การอ่านหนังสือก่อนนอน เป็นเหมือนกาแฟ ลดอาการง่วงได้ชะงัก

ค้นชั้นหนังสือ เจอหนังสือ (วารสาร) แห่งความทรงจำ เล่มเก่า รู้สึกคิดถึง

จำได้ว่า เคยเขียนเล่าเรื่องของหนังสือเล่มนี้ ในหนังสือรุ่น แต่คิดว่า น้อยคนคงมีโอกาสได้เห็น เลยนั่งแก้บทความนิดๆ หน่อย แล้วโพสเล่าเรื่องความเป็นมา ระหว่างผม กับหนังสือเล่มนั้น

-------------------------------
be Political Economy
(พิมพ์ครั้งแรกและครั้งเดียวในหนังสือรุ่น BE8)

“...หนูก็เป็นคนหนึ่งที่ติดตามวารสารฉบับนี้มาเรื่อยๆ หนูได้รับ be Political Economy เล่มแรกเมื่องานแนะนำคณะ ที่จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ ปีที่แล้วค่ะ ครั้งนั้นหนูรู้สึกประทับใจบทความต่างๆ ที่พี่ๆเขียนกันเข้ามามาก พูดได้เลยว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การตัดสินใจเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ของหนูชัดเจนขึ้น หลายต่อหลายบทความดีดีที่ให้ข้อคิดมากมาย...
หนูต้องยอมรับว่า หนูมักจะชอบเลือกอ่านบทความที่ให้แง่คิดในการดำรงชีวิตมากกว่าบทความที่ว่าด้วยเศรษฐกิจล้วนๆพี่ๆเขียนได้ประทับใจมาก จนทำให้หนูอยากมาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมศาสตร์เร็วๆ หนูได้มีโอกาสอ่าน เล่มที่ 2, 3, 4 และเล่มสุดท้ายนี้ เล่มที่ 5 งานเขียนของพวกพี่ยังคงให้แง่คิดดีดีกับหนูเสมอ
หนูเคยหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ส่งบทความไปที่กองบรรณาธิการบ้าง ขอเวลาหนูฝึกปรือวิทยายุทธ และสั่งสมความเป็นธรรมศาสตร์อีกซักหน่อยนะคะ แล้วหนูจะไม่รอที่จะส่งบทความไป
ถึงตอนนี้พี่จะเลิกทำ be Political Economy แล้ว แต่ Echo ที่กำลังจะเข้ามาแทน ก็ทำให้หนูมั่นใจได้ว่าวารสารที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำเสนอความคิดของตนจะยังคงมีต่อไป...”
Gift BE#12

ข้อความข้างบนเป็นส่วนหนึ่งของอีเมลหลายๆฉบับที่ผมเคยเปิดอ่านใน อีเมลของวารสารที่ผมเคยรับผิดชอบ ข้อความเหล่านั้นทำให้ผมรู้สึกดีใจ ที่งานเล็กๆ ของพวกเราทำประโยชน์ได้มากมายกว่าที่พวกเราตั้งใจ

หลายๆคนคงเคยโดน “บังคับซื้อ” วารสารเล่มเล็กชื่อ “be Political Economy” ขนาดสมุดเลกเชอร์ ที่ออกทุกๆ 3 เดือน มีลักษณะเด่นคือ การออกแบบหน้าปกที่ดูแปลก แล้วแต่เล่ม อาจดูสวยเด่นในสายตาของบางคน หลายคนสงสัยว่าทำไมเราตั้งชื่อวารสารฉบับนี้ว่า “be Political Economy” ที่ฟังดู “หนัก” และ “น่าเบื่อ” หลายคนอาจคิดว่า “ไร้สาระ”

คงไม่ผิดนักหากผมจะเรียกตัวเองว่าเป็นหนึ่งใน “ผู้ก่อการ” ทำให้วารสารชื่อประหลาดโลกหลุดเข้ามาสู่บรรณาพิภพนี้ได้ ผมจำได้ว่าตอนนั้นเป็นช่วงปลายเดือนมกราคมปี 2546 ซึ่งปกติแล้วเป็นช่วงที่คณะของเราจัดงาน “เศรษฐศาสตร์วิชาการ” อยู่เสมอๆ ตอนนั้น SCOBE ภายใต้การนำของท่านผู้นำสุดหล่อ “คุณกระต่ายน้อย” ตัดสินใจว่า B.E. ของเราจะช่วยจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านวิชาการแก่ผู้เข้าชมงาน

พี่จ๊อก BE#7 อาสารับผิดชอบงานและตีโจทย์นี้ โดยมีความคิดว่า หากเราทำบอร์ดเหมือนกับหลายๆปีที่ผ่านมา ความรู้ที่เราไปขวนขวายหรือศึกษามามีอายุเพียงแค่อย่างมาก 2-3 วัน แล้วทำไมเราไม่ทำให้มันออกมาให้มันอยู่ได้นานเลยล่ะ? สุดท้ายเราก็เลยได้ความคิดว่าเราจะทำวารสารเชิงวิชาการในรูปแบบหนังสือทำมือ ที่มีบทความเชิงวิชาการของนักศึกษาคณะเรา ไว้แจกผู้คนที่เข้ามาชมคณะของเรา

น้องเอด้า BE#9 เป็นคนแรกที่ชวนผมเขียนบทความลงวารสารเล่มนั้น ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผม “ร้อนวิชา” เพราะ หลังจากที่ผมได้อ่านหนังสือ แสวงหาความรู้เกี่ยวกับเศรษฐเชิงศาสตร์สถาบัน (Institutional Economics) ที่ผมคิดว่าสามารถใช้ ในการมอง ทำความเข้าใจ สังคมและโลกมนุษย์ และจะเติมเต็ม “ช่องว่าง” ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (Mainstream Economics) จำได้ว่า ตอนนั้นผมเหมือนเด็กที่เพิ่งได้ของเล่นใหม่ - อยากอวดให้เพื่อนๆเห็น - ผมจึงตั้งใจเขียนบทความเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์สถาบันขึ้นมา แต่กลับได้รับคำวิจารณ์ว่าเป็นบทความที่แห้งและจืดชืดที่สุด ในหนังสือเล่มนั้น

พี่จ๊อกสามารถรวบรวมบทความได้มากมายและหลากหลายในเนื้อหา ทีตั้งแต่เศรษฐศาสตร์กับการก่อการร้าย เศรษฐศาสตร์กับความรัก นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลฯลฯ ทุกอย่างพร้อมแล้วสำหรับการพิมพ์ยกเว้นสิ่งเดียว...ชื่อวารสาร

be Political Economy คงเป็นหนึ่งในวารสารน้อยฉบับในโลกนี้ที่ตั้งชื่อได้ผิดไวยกรณ์อย่างแปลกๆ เหล่า “ผู้ก่อการ” ส่วนหนึ่งเป็นลูกศิษย์อาจารย์พิชิตที่สอนวิชา Political Economy และอาจารย์ Gavan Butler ในวิชา Global Political Economy ที่ทำให้พวกเราหลงไหลสู่วังวนแห่งเศรษฐศาสตร์แนวอื่น ในตอนแรกเราจึงอยากใช้ชื่อวารสารว่า B.E. Political Economy เฉกเช่น Cambridge Journal of Political Economy ที่ฟังดูแล้ว “ขลัง” มาก แต่เพื่อป้องกันปัญหาของความแบ่งแยกว่าเป็นหนังสือของ B.E. เราจึงยอมเปลี่ยนจาก B.E. เป็น (to) be

แต่จริงๆ แล้วเรามีเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านั้น เพราะคำว่า Economics โดยแท้จริงแล้วเป็นร่างกลายพันธ์ของวิชา Political Economy ที่มีสอนกันมาหลายร้อยปีแล้ว เพียงแต่หลังจากนักวิทยาศาตร์จำนวนหนึ่งเริ่มสนใจนำกระบวนการวิทยาศาสตร์มาอธิบายพฤติกรรมสังคม Political Economy จึงอยู่ในเป้าหลอมรวมกับระเบียบความคิดเชิงวิทยาศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (สังเกตุได้จากชื่อ Economics มีความคล้ายคลึงกับ Physics หรือ Mechanics) ที่ซึ่งสิ่งนี้ทำให้องค์ประกอบการเมืองและสิ่งอื่นๆในสังคมเช่นวัฒนธรรม ถูกลดบทบาทลงในกระบวนการศึกษาเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลที่ว่า สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถวัดค่าได้
ความตั้งใจของพวกเราก็คือ เราไม่อยากให้เศรษฐศาสตร์ของเรามีความเป็น “วิทยาศาสตร์” มากเกินไปเราจึงอยากใช้ชื่อดังเดิมของเศรษฐศาสตร์เป็นชื่อของวารสารวิชาการสมัครเล่นที่เราทำ

เป็นที่น่าแปลกใจนิด ที่วารสารฉบับนี้ได้ผลตอบรับดีเกินคาด B.E. Office อยากให้เราทำต่อไป เราจึงได้รับเงินสนับสนุนเพียงพอที่เราจะทำหนังสือดีๆ ได้หนึ่งพันเล่ม

เล่มสองเป็นอีกเล่มหนึ่งที่พี่จ๊อกเป็น “หัวหน้าผู้ก่อการ” (บรรณาธิการ) เล่มนี้เป็นเหมือนการ “กระโดนค้ำถ่อ” ของพวกเรา เพราะวารสาร be Political Economy เล่ม 2 ถูกพิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม ด้วยปกสี่สีอาบมัน ข้างในเป็นกระดาษถนอมสายตา แถมมีนายแบบปก (อามัน BE#9) ทำให้วารสารของเราดู Sexy มากทีเดียว เราเปิดตัววารสารเล่มนี้ในงาน reunion ของ B.E. ซึ่งทำให้เราขายวารสารได้จำนวนมาก

รูปเล่มที่เปลี่ยนไปไม่ทำให้เนื้อหาของพวกเราเปลี่ยนแปลง พวกเรามีความมุ่งมั่นที่จะทำวารสารเล่มหนึ่งที่มีบทความเขียนโดยนักศึกษา วิพากษ์วิจารณ์สังคมที่เขาอยู่ด้วยเหตุและผล ผ่านกรอบและมุมมองในสิ่งที่เขาเชื่อและเขาเห็น บทความของพวกเรามีความเข้มข้นยิ่งขึ้นโดยเฉพาะบทความ “นิทานแห่งกาลเวลา” ของพี่สุนิตย์ BE#7 ที่โจมตีความคิดเก่าๆ อย่างรุนแรงแต่แฝงด้วยตรรกอย่างเข้มข้น

เมื่อพี่จ๊อกเรียนจบ ผม...ในฐานะคนที่อาวุโสสูงสุดจึงได้รับหน้าที่รับผิดชอบ ดูแลหนังสือของพวกเราต่อไป

การรับหน้าที่บรรณาธิการวารสารนี้ต่อไปอีก 3 ฉบับเป็นหน้าที่ที่ท้าทายผมมาก อย่างแรกก็เพราะว่าผมไม่เคยทำหนังสือมาก่อนเลยในชีวิต สองผมไม่รู้ว่าจะหาเงินทุนได้จากไหน (เพราะB.E. ไม่มีงบพอที่จะ support ได้อีก)

ผมคิดว่าผมค่อนข้างโชคดีมากที่เมื่อผมเป็นบรรณาธิการของ be Political Economy ตั้งแต่เล่ม 3-5 งานทุกอย่างค่อนข้างเข้าที่เข้าทาง หน้าที่หลักๆของผมคือ “ตามจิก” บทความจากนักเขียน และเขียนบทบรรณาธิการ ผมก็คงเป็นเหมือนบก.ของแห่งขายหัวเราะที่ถือแส้ไล่ฟาดนักเขียนเพื่อบังคับให้พวกเขาผลิตงานเขียนออกมา – เปล่าหรอกผมไม่โหดขนาดนั้นหรอก

ผมจำได้ว่าวันที่ be Political Economy เล่มที่ 3 ออกจากโรงพิมพ์เป็นวันเดียวกับที่ละคอน Another Land ของเด็ก B.E. แสดงเป็นวันแรก ระยะเวลาขับรถจากโรงพิมพ์มาถึงที่มหาวิทยาลัยใช้เวลา 15 นาที แต่สาบานเถอะ! 15 นาทีที่ผมรอหนังสือมาส่งนั้นยาวนานเป็นนิรันดร์ ผมรู้สึกว่าตอนนั้น เหมือนกำลังนั่งเฝ้าคอยหญิงสาวที่ผมนัดไว้ ไม่รู้ว่าเธอจะมาไหม จะมาเมื่อไร มาแล้วแต่งตัวสวยไหม อารมณ์ดีหรือไม่ ฯลฯ ความวิตกกังวลเหล่านี้เกือบทำให้ผมคลั่งได้

หลังจากที่ be Political Economy เกิดมาในโลกหนังสือได้ปีกว่า มีผู้คนเริ่มรู้จักมันมากขึ้น ส่วนใหญ่ตามงานที่มหาวิทยาลัยที่พวกเราไปทั้งแจกและขาย มีคนเคยถามว่าทำไมเราตั้งราคาที่ 40 บาท ผมตอบไปว่า ผมคิดว่าราคา (บางที) สามารถสื่อถึงคุณค่าของสินค้าได้ เราไม่อยากทำแล้วแจกฟรีเพราะมันอาจทำให้หนังสือที่เราทำดูไร้ค่า เราไม่อยากตั้งราคาให้มันแพงแต่ก็ไม่อยากให้มันดูด้อยค่าเกิน ผมคิดว่าราคา 40 บาทเป็นราคาที่เหมาะสม อย่างน้อยมันก็แพงกว่าการ์ตูนปกติแค่ 10 บาท

พวกเราไม่ค่อยได้เน้นเรื่องขายสักเท่าไร สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่าคนไม่พอ สาเหตุที่สองคือเหนื่อยล้าจากการทำต้นฉบับมากแล้ว รายได้จากการขายจึงไม่เพียงพอที่จะไปใช้พิมพ์วารสารเล่มใหม่ ผมจึงต้องใช้วิชา “หน้าด้าน” ไปขอเงินจากผู้ใหญ่ที่นับถือ ซึ่งก็ได้รับความเมตตาเป็นอย่างดีทำให้งานเด็กๆฝีมือดีๆยังมีอยู่ได้ หลังจากนั้นเราได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการ YIY (Youth Innovation Year) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส. อีกทีทำให้เรามีเงินเพียงพอที่จะทำหนังสือดีๆได้อีกหนึ่งปี

ถ้าถามผมว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้วารสารของเรายังอยู่ได้จนถึงวันที่ผมเขียนข้อความนี้อยู่ ผมคิดว่าเป็นเพราะความที่ผมเป็นคนโชคดีที่ได้ทีมงานที่มีความสามารถมากๆ อย่างเช่นน้องพิม BE#11 เป็นคนที่ผมไปหลอกล่อเขามาช่วยทำ be Political Economy มากับมือ ผมจำได้ว่าผมบังเอิญเห็นใบสมัครร่วมทำงานละคอน แล้วสะดุดตรงที่เขาเขียนว่า “สามารถใช้โปรแกรม Adobe PageMaker และ Adobe Illustrator ได้ (อย่างดี)” ผมบอกกับพี่จ๊อกว่าคนนี้แหละใช่เลยที่จะทำ Artwork ให้เรา และพวกเราก็ไม่เคยผิดหวังกับงานที่น้องพิมทำให้ตั้งแต่เล่ม 2 เป็นต้นมา

ผมชวน คุณกระต่ายน้อย มาช่วยเขียนบทความในเล่ม 3 และเล่ม 4 เขาเขียนได้ดีมากๆ ผมขอให้เขาช่วยผมทำวารสารด้วย ช่วยออกความคิด ช่วยดูบทความ ฯลฯ ทำให้ลดภาระของผมได้มากมายทีเดียว

น้องปิ่นน้องเอกน้องแจ BE#10 เป็นกำลังที่จะทำให้หนังสือของเราอยู่ต่อไปอีกหลายปี น้องปิ่นช่วยทำปก บทความของน้องเอกถูกตีพิมพ์ในวารสารทุกฉบับ และน้องแจได้ช่วยทำให้ผมทำงานได้ดียิ่งขึ้น

มีผู้คนอีกจำนวนมากที่ได้ช่วย be Political Economy ตั้งแต่เล่มแรกที่ผมสามารถรวบรวมรายชื่อได้พวกเขาได้เขียนบทความ ให้คำแนะนำ หรือได้ช่วยเหลือไม่ทางใดก็ทางหนึ่งตลอด 5 เล่มที่ผ่านมา พวกเขาได้แก่ อ.ปกป้อง อ.ภาวิน อ.นิธินันท์ อ.ปราณี (ธรรมศาสตร์) อ.วรากร อ.อนุวัติ (ม.ธรุกิจบัณฑิต) พี่สูง BE#2 พี่อุ๊ BE#5 พี่จ๊อก พี่โอม พี่นัท พี่ตอง พี่สุนิตย์ พี่ป๋อ พี่จ๋า พี่จิ๊ฟ พี่ป่าน พี่บิ๊ก พี่จอย BE#7 ปิ๊น โอม (ลูกค้าคนแรกทุกเล่ม) เต้ พิม แนน อ้น โจ เตย BE#8 น้องเกด น้องโบ๊ต น้องอามัน น้องเอด้า น้องนิจ BE#9 น้องเอก น้องแจ น้องวีระ น้องโบ น้องเหลย น้องปิ่น น้องมิ้นท์ น้องฟ้า น้องเหลย น้องไป๋ น้องต่อ BE#10 น้องพิม น้องแป๊บ น้องสิงห์ น้องต้า น้องซือๆ น้องแอม น้องเป้ย น้องเก็ต น้องแม๋ม น้องปาล์ม น้องอู๋ น้องธัช น้องแอน น้องบ๊อบ น้องน๊อต BE#11 และมีอีกหลายคนที่ผมนึกไม่ออกจริงๆ

ตลอดเวลาตั้งแต่ร่วมเป็นผู้ก่อการ be Political Economy จนถึงเล่มที่ 5 ก็เป็นเวลาหนึ่งปีครึ่งพอดี มีคนเคยกล่าวชมผลงานที่พวกเราทำออกมา แต่สำหรับผมแล้ว ผมงานบรรณาธิการของผมถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่ผมคิดว่าพวกเรายังมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้มันดีกว่านั้นได้อีก พวกเรายังต้องการการปรับปรุงและพัฒนาอีกเยอะ

Echo เป็นชื่อใหม่ของวารสารที่พวกเราทำ สาเหตุหลักที่เราเปลี่ยนชื่อคือประเด็นการตลาด และเราต้องการจัดรูปจัดร่างวารสารให้ดู “โปร” มากขึ้น โดยไม่ละยอมทิ้งอุดมการณ์และความตั้งใจที่จะสร้างสิ่งดีๆของพวกเราไป ผมโชคดีที่ได้น้องเกด BE#9 รับหน้าที่บรรณาธิการสืบทอดต่อไป ผมหวังว่า Echo จะเป็นวารสารที่ทำโดยนักศึกษาเพื่อวงการศึกษาและสังคมไทยที่ดีเล่มหนึ่ง

ผมอยากปิดท้ายบทความนี้ด้วยข้อความเดียวกับที่ผมเขียนไว้ในบทส่งท้ายของ be Political Economy เล่ม 5 เล่มสุดท้ายที่ผมเป็นบรรณาธิการ เล่มสุดท้ายที่เราใช้ชื่อประหลาดนั้น

“...ผมรู้สึกว่าบางประโยค บางวลีในภาษาอังกฤษสามารถถ่ายทอดความหมายของความรู้สึกและอารมณ์ได้ดีกว่าหลายภาษา ผมขอมอบคำพูดให้กับรุ่นพี่ เพื่อนๆ น้องๆ ทุกคนที่ช่วยเหลือ be Political Economy ให้มีมาถึง 5 เล่มรวมถึงผู้อ่านทุกท่านด้วยวลีที่ว่า ‘Thanks for memories’...”

ขอบคุณสำหรับความทรงจำที่แสนดี ที่ชื่อ be Political Economy

13 July 2005

Ima, ai ni yukimasu


คำว่า Ima, ai ni yukimasu เป็นคำอ่านของภาษาญี่ปุ่น ที่แปลความหมายกลับเป็นภาษาอังกฤษว่า “I will be with you”

Ima, ai ni yukimasu เป็นชื่อนิยายระดับ best seller ของญี่ปุ่นที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนังโดยใช้ชื่อเรื่องต้นฉบับ และมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Be with you” สำหรับหนังที่ฉายนอกประเทศญี่ปุ่น โดยผู้กำกับ Nobuhiro Doi

หลายคนกล่าวว่า “Be with you” เป็นสัญญาณสำคัญว่า วงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นกำลังกลับมาทวง บัลลังค์หมายเลข 1 วงการแผ่นฟิลม์เอเชีย หลังจากที่ ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ครอบครองอยู่หน้านี้

อ่านเรื่องย่อของ “Be with you” ได้ที่นี่ www.imdb.com/title/tt0442268/

มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้หลายรอบ รู้สึกแปลกใจที่ “Be with you” เป็นหนังเรื่องแรกที่ทำให้ผมเสียน้ำตาได้ ทั้งๆ ที่เคยดูหนัง “Korean tear-jackers” ทั้งหลาย (เช่น Il Mare และ The Classics) แล้วรู้สึกขำๆ กับเนื้อเรื่องเชิงน้ำเน่าแบบเกาหลี

จำได้ว่า เมื่อดูรอบแรกจบ รู้สึกเหมือนมีอะไรติดคอ พูดไม่ออก น้ำตาซึม และไม่ได้เป็นคนเดียว คนข้างๆ และคนอื่นๆ ที่มาดูรอบเดียวกันด้วยก็คงมีลักษณะคล้ายคลึงกัน

แปลกที่ว่า ความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้เกิดเพราะความเศร้า แต่เป็นเพราะความรู้สึกดีๆ ที่มาพร้อมกับความซึ้งที่ถูกถ่ายทอดผ่านการดำเนินเรื่องราว 2 ชั่วโมงของตัวละครทั้งหลายในเรื่องนี้

การดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่าย ประกอบกับความงดงามของการถ่ายภาพ และความลงตัวบทภาพยนตร์ เป็นเหตุผลทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามที่ญี่ปุ่น

จนถึงวันนี้ หนังเรื่องนี้เข้าฉายในเมืองไทยนานกว่า 10 สัปดาห์แล้ว นับว่าเป็นเรื่องแปลกมา ทั้งๆ มีฉายเพียง 2 โรง คือ House Rama และ Lido ที่สยาม ในแต่ละรอบก็มีคนมาดูเยอะพอสมควร คงเป็นเพราะกระแสปากต่อปากใน Pantip.com ทำให้หนังเล็กๆ อย่าง Be with you ยืนโรงได้นานขนาดนี้

ตั้งใจว่าจะรีบซื้อ DVD ทันทีที่ออกขาย

เพราะมีความรู้สึกดีๆ มากมายที่ได้รับจากหนังเรื่องนี้

03 July 2005

Why did chicken cross the road?

มีคำพูดภาษาอังกฤษบอกว่า “One picture speaks a thousand words.”

บ้างก็พูดว่า “A picture records history and spirits of time.”

คำพูดเหล่านี้มักวนเวียนอยู่ในหัวทุกครั้ง เมื่อได้เห็นภาพวาด หรือรูปถ่ายดีๆ สักภาพหนึ่ง

บ่ายวันนี้ก็เหมือนกับบ่ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ความว่างเว้นจากหน้าที่ หรืองานต่างๆ ทำให้รู้สึกเบื่อ (เหมือนกันทุกๆ สัปดาห์)

นึกขึ้นได้ว่า ที่ร้านหนังสือ “ริมขอบฟ้า” แสดงนิทรรศการภาพถ่ายหัวข้อ “Living Together” หนึ่งในกิจกรรมดีๆ ฉลองวันเกิด 20 ปีของนิตยสารสารคดี

เคยเอ่ยปากชวนโอมไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ความว่างชิงตัดหน้าไปก่อน และถือโอกาสเป็นข้ออ้างไปซื้อหนังสือ ของขวัญให้เพื่อนสัปดาห์หน้านี้ด้วย

ทีแรกนึกว่า งานแสดงภาพถ่าย “Living Together” เป็นการแสดงนิทรรศการ แบบเป็นกิจลักษณะ เหมือนงานแสดงภาพเขียน หรืองานแสดงศิลปะอื่นๆ

เดินเข้าไปในร้าน รู้สึกงงๆ ตรงไหนหว่า ที่เขาจัดนิทรรศการของหนังสือสารคดี??? เหลือบไปเห็น สมุดปกแข็งเล่มใหญ่ๆ หลายเล่มวางอยู่ริมกระจกของร้าน มีชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังพลิกหน้าในของมันอย่างช้าๆ

งานนี้คงเป็นงานแสดงรูปถ่าย ที่เรียบง่ายและเป็นกันเองที่สุด นึกถึงเวลาที่เราไปเยี่ยมบ้านเพื่อนสนิท มีโอกาสถือวิสาสะ หยิบอัลบัมภาพของครอบครัวเขามานั่งดู

งานนี้มีรูปถ่ายดีๆ เกือบ 300 รูป (เท่าที่กะจากสายตา) ซ่อนในสมุดปกแข็งหลายเล่มนั้น โชคดี วันนี้หยิบกล้องมาด้วย เลยได้ “ถ่ายภาพถ่าย” ที่ชอบมาด้วยหลายสิบรูป

ส่วนตัวชอบรูปที่ได้รางวัลที่สามชื่อ “ครอบครัวน่ารัก” มากที่สุด เห็นรูปนี้แล้วนึกถึง Joke ภาษาอังกฤษที่ว่า Why did chicken cross the road?- จำนวนคำตอบ (แบบขำๆ) ของคำถามนี้ มีได้มาก จำนวนเท่านิรันดร์ สุดแล้วแต่จะเล่นกัน

หลายปีที่แล้ว เคยได้ set คำตอบแนวนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก และคนดังๆ อีกจำนวนหนึ่ง จาก Email ที่เพื่อน forward เป็นทอดๆ กันมา พอจำได้ลางๆ ว่าเป็นเช่นนี้

Adam Smith: Invisible hands moved the chicken.

Alfred Marshall: There was an excess supply on one side and shortage on the other side of the road. Therefore the chicken crossed the road to the other side and the market reached equilibrium.

Chicago School economists: Because of the deregulation which allowed the free flow of the chicken to the other side of the road.

Etc. Etc. Etc.

มีภาพดีๆ อีกหลายสิบ หลายร้อยภาพ แต่ละภาพ ล้วนมีเรื่องราว ผ่านการบอกเล่าจากตัวละครในภาพถ่าย หยิบภาพบางส่วน มาโพสไว้ก่อนหน้านี้ ("Living Together")

หากอยากดูเยอะกว่านี้คงต้องไปดูที่ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ถนนราชดำเนิน ติดกับโชว์รูมเบนซ์ ธนบุรี งานมีแสดงถึงสิ้นเดือนนี้

หากไม่ว่าง ไปดูได้ที่ http://www.sarakadee.com/living2005

"Living Together"














ภาพส่วนหนึ่งจากนิทรรศการภาพถ่าย "Living Together" จัดโดยนิตยสารสารคดี
จากบน (ซ้ายไปขวา)
1) ครอบครัวน่ารัก (ได้ที่ 3)
2) เงามิตรภาพ (ได้รางวัลชมเชย)
3) Love of Brooklyn Bridge (ได้รางวัลชมเชย)
4) See you see me (ได้ที่ 1)
5) เศษของสังคม (ได้ที่ 2)

02 July 2005

ที่มาและที่ไป

ผมเป็นคนชอบเขียน เพราะการเขียนเป็นการอธิบายความคิดอย่างดีที่สุด ต้องใช้ความคิด ไตร่ตรอง พิจารณา ทุกคำ ทุกตัวอักษรที่ใส่ไปในแต่ละประโยค ให้งานเขียนออกมาสมบูรณ์ที่สุด

สิ่งที่สำคัญก็คือ หนทางพัฒนาความสามารถการเขียนคือ การอ่านที่มากขึ้น และเขียนให้มากขึ้น

สองปีสุดท้ายที่เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับผม ในฐานะคนชอบขีดๆ เขียนๆ

การเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมหลายๆ กิจกรรมไม่เคยทำให้ผมรู้สึกเหงา และช่วงนั้นผมค้นพบว่า ตัวเองมีความสามารถการเขียนที่ไม่เลวทีเดียว

เวลาส่วนใหญ่ของปีสุดท้ายที่ธรรมศาสตร์ หมดไปกับการทำหนังสือชื่อประหลาดโลก 3 ฉบับ เป็นการเสียเวลาที่รู้สึกว่าคุ้มค่า เพราะเป็นช่วงที่ผมมีโอกาสขีดเขียนมากที่สุด ทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

ยิ่งไปกว่านั้น ผมมีโอกาสได้สนทนา เรียนรู้ และเปิดรับต่อความคิด มุมมอง หรือความรู้ใหม่ๆ ได้รู้จักหนังสือดีๆ โดยเฉพาะวรรณกรรม ที่แต่ก่อนไม่ค่อยใส่ใจเท่าไรนัก

สองปีสุดท้ายที่เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว คล้ายกับเวลาที่อยูใกล้ชิด หรือออกเดท กับเพื่อนที่รู้สึกดีด้วยในหนึ่งวัน

เมื่อเวลาที่ธรรมศาสตร์หมดลง ผมได้โอกาสสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรใหญ่ในประเทศ และระดับโลก แต่โอกาสนั้นก็มาพร้อมกับต้นทุนด้านเวลา ที่ผมต้องสูญเสียไปกับหน้าที่หลักอันใหม่ของผม

กว่า 1 ปีเศษที่ผม ไม่มีโอกาสได้เขียนอะไรเลย เหตุผลแสนคลาสสิคที่ว่า “ไม่มีเวลาเลย ยุ่ง มัวแต่ทำงานทั้งวัน” เป็นประโยคบอกเล่าให้กับหลายคนที่เคยทำหนังสือร่วมกันมา

จริงๆ แล้ว การไม่มีเวลา เพราะต้องทำงาน เป็นความจริง แต่เพียงครึ่งเดียว เพราะอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ (ผมเข้าใจว่า) แท้จริงเป็นเพราะว่าผมขี้เกียจต่างหาก

จนกระทั่งมีเพื่อนแนะนำให้รู้จัก โลกของบล็อกเกอร์และได้แอบอ่านสิ่งดีๆ ที่หลายๆ คนเขียน จุดประกายความรู้สึก “อยากขีด อยากเขียน” ในใจอีกครั้งหนึ่ง

แต่คง ไม่มีโอกาสได้เขียนมากนัก เพราะว่าไม่มีเวลา และความขี้เกียจ

แต่หากมีโอกาสได้เขียน ก็คงเป็นเพราะว่า เกิดขี้เกียจทำงาน อยากอู้ หรือมีเวลามากมาย สำหรับการเขียนอะไรบ้าง

ไม่เขียนเพราะขี้เกียจ แต่ถ้าได้เขียนก็เพราะขี้เกียจ จึงเป็นเหตุผลที่ทำไม ผมจึงใช้ชื่อว่า “Dawdle Man”

งานเขียนของผม ยังอย่ในระดับสมัครเล่น ถึงไม่ดีนัก แต่ก็ไม่แย่เกินไป

ผมไม่มีหัวข้อที่อยากเขียนอะไร เป็นพิเศษ บางทีอยากเขียน เพราะอยากบ่นก็มี

บางทีอาจจะน่าเบื่อ (ด้วยวิธีการเขียนของผม) แต่หวังว่า คงไม่ไร้สาระมากนัก

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม Blog ของ Dawdle Man ครับ

01 July 2005

วันนี้ไม่เหมือนเมื่อวาน

วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ผมเดินทางถึงกรุงเทพ เพราะโรงเรียนที่ออสเตรเลียปิดเทอมกลางปี

ผมกลับบ้าน ในวันประวัติศาสตร์ ที่ทุกคนจะจดจำวันนั้นตลอดไป

คืนนั้นผมได้นอนไม่กี่ชั่วโมง คงเป็นเพราะว่าได้หลับบนเครื่องบินไปบ้างแล้ว จึงได้แต่นั่งหน้าจอเล่นเกมส์ รอพระอาทิตย์พ้นขอบฟ้า

เช้านั้นอากาศไม่ร้อนนัก แต่บรรยากาศที่วังบางขุนพรหม คงครุกรุ่นพอตัว

เช้าวันนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาท จากระบบตะกร้าเงิน (Currency Basket) เป็น ระบบจัดการแบบลอยตัว (Managed Float) หลังจากที่ต่างประเทศมีการคาดการล่วงหน้ามานาน

เรื่องราวทั้งหมดในขณะนั้น ดูซับซ้อน และยากที่จะทำความเข้าใจสำหรับ นักเรียนระดับ ม. 5 ที่เพิ่งเรียน วิชา Economics ได้ไม่กี่เดือน

สถานการณ์ต่างๆ ยิ่งแย่ลงทุกวันๆ น้อยคนเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้น หรือว่าเป็นเพราะอะไร ภาพจริงของเศรษฐกิจปรากฎขึ้น เมื่อหมอกจางๆ หายไป เหลือแต่ความสับสน ที่ปรากฎต่อหน้าทุกคน

ใครจะรู้ว่าเสือตัวหนึ่งจริงๆ แล้วคือแมวน้อยที่ป่วยหนัก และต้องใช้เวลาราว 5 ปี กว่าแมวตัวนี้จะฟื้นตัวและเริ่มมีเรี่ยวแรง

8 ปีให้หลัง หลายสิ่งเปลี่ยนไปมาก วิกฤติในวันนั้น เป็นสาเหตุหลักของ ความเปลี่ยนแปลงในการเมืองและสังคม

หากวันนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง คงไม่มี "ม๊อบสีลม" และ "ธงเขียว-ธงเหลือง" อยู่บนท้องถนน

หากวิกฤติเป็นเรื่องโกหก George Soros, IMF, Hedge Fund etc. คงไม่ใช่ สัญลักษณ์ นิยาม หรือสิ่งอุปมาของ ด้านมืดของทุนนิยม และการล่าอานานิคมสมัยใหม่

หากวันนั้นไม่ใช่วันประวัติศาสตร์ เป็นเพียงวันหยุดธนาคารธรรมดา เราคงสงสัยกับคำว่า "คนเคยรวย"

หากวันนั้นเป็นเพียงฝันร้าย คงมีน้อยคนยอมรับ "ความคิดชาตินิยมเศรษฐกิจ" ของบางคน บางกลุ่ม

หากไม่มีวันนั้น "รัฐบาลพรรคเดียว" คงยังเป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่ฝัน อยากเห็น เช่นเดียวกับการเมืองในบางประเทศ

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

วันนั้น เป็นวันที่เปลี่ยน ชีวิตของผม หันเห และเริ่มสนใจ "เศรษฐศาตร์และการเมือง" ก่อนทิ้งความฝันการเป็นวิศวะกรสร้างเครื่องบินไว้เบื้องหลัง

วันนี้ไม่เหมือนเมื่อวานจริงๆ

ปล. พรุ่งนี้ผมจะมาเขียนแนะนำตัวครับ